วันที่ 14 ส.ค.62 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่ช่วยการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือภัยแล้ง ณ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ตำบลเฉลียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
การลงพื้นที่ตรวจราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะในครั้งนี้ เพื่อติดตามปัญหาภัยแล้งในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา และการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และรถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนได้อย่างทันท่วงทีและทั่วถึง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ว่า ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 346 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอ่างเก็บน้ำหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญของเมืองสุรินทร์ คืออ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึล ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาน้ำแห้งขอด เนื่องจากฝนที่ตกน้อยว่าค่าปกติตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำจากแหล่งน้ำอื่น เพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โดยทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำราชมงคล จำนวน 250,000 ลูกบาศก์เมตร ลงสู่ห้วยเสนง และใช้ฝายหลังศูนย์ประมงกักน้ำไว้ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และขณะนี้อยู่ระหว่างสูบน้ำจากบ่อหินของเอกชน ที่มีปริมาณน้ำประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
ทั้งนี้ แม้ว่าบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าค่าปกติ บางพื้นที่แทบจะไม่มีฝนตกเลย จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรต้องขอให้งดทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง หรือทำการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกแล้ว ขอให้เกษตรกรใช้น้ำตามรอบเวรของตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน 1460 กรมชลประทานพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์