นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ส่งเสริมให้นำวัฒนธรรมไทยไปใช้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกม ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น แอนิเมชัน เป็นต้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาชาติและดำเนินการตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564 ) เช่น การส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งเสริมการร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
ในปี 2567 นี้ วธ. จึงบูรณาการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ นำผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง จำนวน 27 ราย พร้อมด้วยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย เข้างานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2567 (Hong Kong International Film & TV Market (FILMART) 2024) ณ ศูนย์การประชุมและการจัดงานแสดงแห่งฮ่องกง (HKCEC) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11 – 14 มีนาคม 2567 เพื่อส่งเสริมการนำคอนเทนต์ประเทศไทย ผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการผลิตและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่เวทีการเจรจาและจัดจำหน่ายธุรกิจระดับนานาชาติ ภายใต้แนวคิด Content Thailand ประกอบด้วย
กลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และแอนิเมชัน (Film Production and Distribution) จำนวน 9 บริษัท ได้แก่
- บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
- บริษัท เดอวอร์เรนท์ พิคเจอร์ จำกัด
- บริษัท ไนท์ เอดจ์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
- บริษัท แบล็ค ดรากอน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
- บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่น จำกัด
- บริษัท เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม จำกัด
- บริษัท เวลเคิร์ฟ จำกัด
- บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด
กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรายการและละครโทรทัศน์ (Television Content and Formats) จำนวน 10 บริษัท ได้แก่
- บริษัท 9 หน้า โปรดักชั่น จำกัด
- บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด
- บริษัท เช้นจ์2561 จำกัด
- บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด
- บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์คพอยท์ กรุ๊ป)
- บริษัท บี ออน คลาวด์ จำกัด
- บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด
- บริษัท สตูดิโอ วาบิ ซาบิ จำกัด
- บริษัท เฮโล โปรดักส์ชั่น จำกัด
กลุ่มบริษัทบริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Production and Post Production Services) มีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 8 บริษัท ได้แก่
- บริษัท กันตนา โฮลดิ้งส์ จำกัด
- บริษัท เดอะ สตูดิโอ พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด
- บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด
- บริษัท เรติน่า ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด
- บริษัท ล๊อคแมน2011 จำกัด
- บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- บริษัท แอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมยังร่วมสนับสนุนกิจกรรมเข้าร่วมงาน Breaking Borders:Exploring Global Reach of Thai Content with Linmon International ณ ห้อง Moonlight Theater ศูนย์การประชุมและการจัดงานแสดงแห่งฮ่องกง (HKCEC) ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกงฯ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจบันเทิงไทยและสร้างเครือข่าย หรือ Thai Night ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกิจการและผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์ของไทยและต่างชาติ รวมถึงต่อยอดความร่วมมือไปสู่การเป็นพันธมิตรทางการค้าในอนาคต ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์สู่ระดับสากล มุ่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นธุรกิจบันเทิงในฐานะ Soft Power สร้างรายได้และภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยต่อไป
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า งานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง เป็นงานตลาดซื้อขายคอนเทนต์ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นเทศกาลแรกของปี 2024 และเป็นตลาดคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภายในงานมีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักแสดง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์อย่างคับคั่ง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 7000 คน สามารถสร้างมูลค่าเจรจาการค้า มากกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าเมื่อจบงาน จะสามารถสร้างมูลค่าเข้าประเทศ ได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท งานดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศในเวทีนานาชาติได้ และเป็นการเผยแพร่ภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยแก่ผู้เกี่ยวข้องในวงการทั่วโลก รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าประเทศอย่างมหาศาล