วันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ โรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการเยี่ยมโรงเรียน และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ในฐานะที่กำกับดูแลงานด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยมี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรีเขต 3 ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครู นักเรียน ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ร่วมให้การต้อนรับ
โดย รัฐนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบเข็มและเกียรติบัตรเพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักเรียนที่ทำคุณงามความดี กล้าหาญและมีความเสียสละ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุเพลิงไหม้ ในเขตตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่าน จำนวน 5 ราย และมอบเกียรติบัตรให้กับผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าว จำนวน 4 ราย จากนั้นในช่วงบ่าย รัฐนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมชมผลงานและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ แห่งที่ 2 โดยมี พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย ข้าราชการครู นักเรียน ให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และใช้สำนวนที่เข้าใจง่ายคือ “เรียนดี มีความสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เมื่อการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไปทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น จึงต้องเกิดความร่วมมือกันทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชน จะสามารถขับเคลื่อนผลักดันในเรื่องการศึกษาให้เจริญรุดหน้ายิ่งขึ้นไป โดยนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และเสริมความมั่นคงของชีวิต ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สร้างความเข้าใจในการวางแผนการใช้เงิน และจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ (1 ครู 1 Tablet) ซึ่งเป็นโยบายรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการสอดรับ บูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน
สำหรับการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ดำเนินการโดยเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอำเภอ จัดระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การจัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาประหยัดค่าใช้จ่าย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) มีการทำข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และสถานประกอบการต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ