กรมควบคุมโรค เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. …. ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ตลอดจนกลไกการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนชาวไร่ยาสูบ ซึ่งร่างกฎหมายฯฉบับนี้ ได้ยกร่างขึ้นบนความสมดุลระหว่างมิติการคุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชนผู้สูบบุหรี่ และบุคคลรอบข้างจากพิษภัยและสารอันตรายที่เกิดจากบุหรี่ กับมิติเศรษฐกิจในแง่การประกอบอาชีพของชาวไร่ผู้เพาะบ่มใบยาสูบให้สามารถประกอบอาชีพเพาะปลูกต่อไปได้
วันที่ 12 มีนาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ถือเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบของพี่น้องประชาชนคนไทย เนื่องจากเป็นมาตรการที่เข้าไปควบคุมสารประกอบต่างๆ ที่ไม่ได้มีอยู่ในใบยาสูบโดยธรรมชาติและไม่ได้เป็นสารจำเป็นตั้งต้นในกระบวนการผลิต แต่เป็นสารที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ เติมหรือปรุงแต่งเข้าไปในตัวมวนบุหรี่ เพื่อให้สูบง่าย เกิดการเสพติดมากขึ้น ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ส่งผลกระทบและอันตรายโดยตรงกับตัวผู้สูบ รวมถึงผู้ได้รับควันบุหรี่ด้วย โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 2 ซึ่งยกร่างขึ้นเพื่อทดแทนกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิมที่บังคับใช้เป็นกฎหมายมากกว่า 27 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มีความล้าสมัย ไม่ทันต่อสถานการณ์ และไม่สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการในระดับสากล ตลอดจนข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
กรมควบคุมโรค ดำเนินการเสนอร่างกฎหมาย และรับฟังความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงฯ จากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผ่านระบบกลางทางกฎหมาย เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค นอกจากนี้ ได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยร่วมกับตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อสรุปร่วมกันอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างมิติสุขภาพและมิติเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการปรับแก้เนื้อหาสาระของร่างกฎกระทรวงฯ ให้ผ่อนคลายขึ้นเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย โดยยังอนุญาตให้ใส่สารปรุงแต่งบางชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตบุหรี่ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ ได้แก่ เมนทอล ชะเอม โกโก้ น้ำตาล กากน้ำตาล น้ำผึ้ง หรือสารอื่นใดที่ทำให้เกิด รสหวาน ความหวานทุกชนิด และให้เลื่อนระยะเวลาการเริ่มบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งจากเดิม 3 ปี ออกเป็น 4 ปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคการผลิต มีระยะเวลาที่เหมาะสมในการปรับตัวให้รองรับกับการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในส่วนสารปรุงแต่งชนิดอื่นที่ไม่จำเป็นต่อการผลิต แต่กลับส่งผลต่อการเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้น เช่น สารชูกำลัง สารที่ทำให้เกิดสีจูงใจ หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ยังจำเป็นต้องห้ามใส่หรือปรุงแต่งไว้เช่นเดิม
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารปรุงแต่งบุหรี่ที่เป็นอันตราย ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับโทษพิษภัยและโรคที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3852 หรือต้องการขอรับคำปรึกษาเพื่อการเลิกบุหรี่ โทรสายด่วน 1600 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย