นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยว่า ตามที่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (N-NET) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ให้กับนักศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น โดยได้มีการรายงานผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงได้มีการสรุปผลสัมฤทธิ์การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (N-NET) ดังต่อไปนี้
ระดับคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (N-NET) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 รวม 3 ระดับการศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43.11 คะแนน ซึ่งดูจากค่าสถิติแล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน สกร. รวม 3 ระดับการศึกษาครั้งนี้ มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 5 ปี หรือกล่าวได้ว่าสูงที่สุดในสิบกว่าภาคเรียนที่ผ่านมา แม้ที่ผ่านมาระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีค่าไม่ค่อยคงที่ตามบริบทของผู้เรียนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ใน 5 ภาคเรียนสุดท้ายนี้ ระดับคะแนนเฉลี่ยรวม 3 ระดับการศึกษา มีแนวโน้มสูงขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงภาคเรียนล่าสุด โดยระดับคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนในระดับประถมศึกษามีค่าสูงถึง 51.30 คะแนน ส่วนคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีค่า 44.71 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีค่า 33.31 คะแนน
จากสถิติคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (N-NET) ของผู้เรียนทั้ง 3 ระดับการศึกษาที่พุ่งขึ้นมาจากภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565, ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565, ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จนถึงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 มีค่าจาก 39.89, 40.42, 41.32 จนถึง 43.11 ทำให้เห็นว่าผู้บริหาร ครู และบุคลากรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งประเทศของ สกร. ทำงานกันอย่างหนักและต่อเนื่อง มีการแข่งขันพัฒนาการจัดและการส่งเสริมการเรียนรู้โดยมุ่งเน้นคุณภาพผู้เรียนให้เห็นเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น สกร.จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีความเข้มแข็งมาก สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ การเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้เรียนทั้ง 3 ระดับการศึกษา จนมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาแล้ว 3 ภาคเรียนติดต่อกันจนถึงภาคเรียนล่าสุด สำหรับจังหวัดในภาคใต้นั้น พบว่า 11 จังหวัด มีคะแนนเฉลี่ยของผู้เรียนทั้ง 3 ระดับการศึกษาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับภาคเรียนที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 จังหวัดชายแดน ก็มีผลสัมฤทธิ์คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจด้วย