กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข “รณรงค์ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” สร้างกระแสการรับรู้ให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงความปลอดภัยทางถนน ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่รุนแร
วันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการหยุดรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย “ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” เพื่อสนับสนุนมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนน กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ดิเรก กล่าวว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนและมีผู้เสียชีวิตบนทางม้าลายมีสาเหตุจากการขับรถเร็ว และไม่หยุดรถให้คนเดินข้ามทางม้าลาย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้ให้ความสำคัญในการสร้างกระแสการรับรู้ และการตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนน จึงขอให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานร่วม รณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามทางม้าลาย สำหรับในส่วนพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมากและมักใช้ความเร็วสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คนที่สัญจรเดินข้ามถนนทางม้าลาย เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมักเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้การเดินข้ามถนนของบุคลากรมีความเสี่ยงต่ออันตรายและเกิดการบาดเจ็บได้
นายแพทย์ดิเรก กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ได้เห็นความสำคัญการสร้างกระแสการรับรู้และสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกและตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขับรถที่เสี่ยงอันตรายต่อผู้อื่น จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” ในบริเวณพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขมีความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคต้องทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ไม่เพียงแต่การหยุดรถข้ามทางม้าลายเท่านั้น ควรมีพฤติกรรมที่ดีด้านความปลอดภัย เช่น การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การไม่ขับรถเร็ว และรู้จักประเมินความเสี่ยงและหลีกเลี่ยง จะช่วยให้เรามีความปลอดภัยทุกขณะในการเดินทาง โดยกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้มีการรณรงค์ข้ามถนนปลอดภัยยกมือเป็นสัญลักษณ์ เพื่อหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และรณรงค์ให้รถที่สัญจรในกระทรวงสาธารณสุข ลดความเร็ว ขับขี่ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมมอบธงหยุดรถทางข้ามให้หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข และมอบหมวก กันน็อกให้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการสวมหมวกนิรภัย 100%
สำหรับกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ คณะผู้บริหารและบุคลากรกรมควบคุมโรคและหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข โดยคาดหวังว่าจะสร้างกระแสการรับรู้และเห็นความสำคัญเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกและตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขับรถที่เสี่ยงอันตรายต่อผู้อื่น