กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตั้ง ‘คมส.’ ชุดใหม่ เห็นชอบ ‘นพ.ชลน่าน’ เป็นประธานขับเคลื่อนฯ ผลักดัน ‘มติสมัชชาสุขภาพฯ’ ให้เป็นรูปธรรม

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีมติแต่งตั้ง “คมส.” ชุดใหม่ที่มี “นพ.ชลน่าน” เป็นประธาน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตาม “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เผยตัวเลข 16 ปีมีข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะรวม 96 มติ บรรลุแล้ว 36 มติ อยู่ระหว่างขับเคลื่อน 43 มติ

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567 ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกันมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แทนชุดเดิมที่จะครบวาระในวันที่ 13 เม.ย. 2567

สำหรับ คมส. จะมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม พร้อมติดตามความก้าวหน้าและรายงานผล รวมถึงพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่จำเป็นต้องเพิ่มเติม เพื่อเสนอบรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัชาสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนพัฒนาการสื่อสารข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เปิดเผยว่า กลไก คมส. นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่ได้รับฉันทมติมาจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ภายในกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งการได้ นพ.ชลน่าน ที่มีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านการแพทย์และด้านสังคม เข้ามาเป็นประธานในการขับเคลื่อนและติดตาม ก็เชื่อได้ว่ามติต่างๆ เหล่านี้จะถูกนำไปดำเนินการ เพื่อเดินหน้าสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทยได้จริงตามเจตนารมณ์

“กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นกลไกในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากภาคีเครือข่ายจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเด็นจนได้มาซึ่งข้อเสนอที่นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและส่งผ่านไปมีผลถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ยังมีกลไกอย่าง คมส. ในการช่วยติดตามและผลักดันให้ข้อเสนอต่างๆ เหล่านั้น เกิดประสิทธิผลได้มากยิ่งขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า สิ่งสำคัญภายหลังจากที่ได้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี หรือเรียกว่าผ่านขั้นตอน “ขาขึ้น” มาแล้ว ก็จะเดินหน้าเข้าสู่ “ขาเคลื่อน” คือการนำมติเหล่านี้ไปขับเคลื่อนขยายผลให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง คมส. จะเข้ามามีบทบาทหลักให้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดพลวัต สอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในสังคม ในส่วนวิธีการสนับสนุนการขับเคลื่อนมติของ คมส. เช่น จัดลำดับความสำคัญของประเด็น จากสถานการณ์และความรุนแรงของปัญหา การหากลไกหลักและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงาน วิเคราะห์ช่องทางการขับเคลื่อนแต่ละมติว่าจะไปในทิศทางใดและจัดทำแผนดำเนินงาน มีการใช้สื่อสร้างกระแสสังคม ตลอดจนจัดการความรู้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างภาคีที่ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ และนำมาพัฒนากระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ภายหลังการแต่งตั้ง คมส. ชุดใหม่ในครั้งนี้ ขั้นตอนถัดไปจะมีการประชุมของ คมส. เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการ” ที่อยู่ภายใต้ คมส. อีกจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมตามประเภทของกลุ่มมติ สามารถประเมินความก้าวหน้าได้อย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง จนสามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คมส. กล่าวว่า นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 16 ครั้ง (พ.ศ. 2551-2566) โดยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 96 มติ ซึ่งสามารถแบ่งสถานะความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มมติที่ดำเนินการบรรลุผลตามข้อมติ (Achieved) จำนวน 36 มติ ซึ่งพิจารณาจากการบรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอ มีผลลัพธ์สำคัญตาม Road map มีแผนงาน นโยบาย หรือกลไกของหน่วยงานหลักรองรับ มีพื้นที่รูปธรรมมากกว่า 5 แห่ง เป็นต้น
  2. กลุ่มมติที่กำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง (O: On-going) จำนวน 43 มติ
  3. กลุ่มมติที่เห็นควรให้ทำการทบทวน (To be revisited) จำนวน 4 มติ เนื่องจากเป็นกลุ่มมติที่มีการเคลื่อนไหวน้อยหรือหยุดนิ่ง หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเห็นควรนำกลับมาทบทวน/ปรับปรุง/ต่อยอด/ขยายผลใหม่ให้สอดคล้อง เช่น มติที่มีข้อจำกัดในเนื้อหา สถานการณ์ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นเกินกว่าข้อมติจะทำให้เกิดผลได้ เป็นต้น
  4. กลุ่มมติที่มีมติให้ยุติ (End-up) จำนวน 13 มติ เนื่องจากมีมติใหม่ครอบคลุมมติเดิม หรือไม่สอดรับกับบริบท และสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ภายในวันเดียวกัน ยังได้มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ คณะกรรมการสนับสนุนและติดตามการดำเนินการเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่ล่าสุดได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อหยุดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ระยะ 100 วัน, 1 ปี และ 3 ปี โดยมีแนวทาง เช่น พัฒนาแนวทางการตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-RDT) ด้วยตัวเอง การควบคุมคุณภาพ การขยายการผลิต การควบคุมราคายา ตลอดจนการนำความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในสถานศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังมีมติรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนในระดับเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ทั้ง 13 เขตพื้นที่ การขับเคลื่อนในระดับจังหวัด การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ตำบล ตลอดจนความร่วมมือเชิงนโยบาย เช่น การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, การขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 กับกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น