วันที่ 9 มีนาคม 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “มิสทิน” จัด “โครงการมิสทินร่วมใจรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวของไทย” กิจกรรมปลูกฟื้นฟูปะการังและดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง ณ เกาะราชาใหญ่ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ในการนี้นายดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวรายงานความเป็นมา พร้อมนี้มีนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน ตลอดจน ผู้ประกอบการ นักดำน้ำอาสาสมัคร เข้าร่วมกิจกรรม รวม 50 คน ทั้งนี้ ผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันมอบอุปกรณ์ปลูกปะการัง อุปกรณ์เก็บขยะ เสื้อปฏิบัติการใต้น้ำ และผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดมิสทินให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ภูเก็ต) แหลมพันวา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรม ทช. มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังของประเทศไทยเพื่อให้มีความสมบูรณ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ อาสาสมัคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ได้สอดคล้องกับภารกิจเร่งด่วนของกรมฯ ที่จะต้องหาทางฟื้นฟูปะการัง ลดปริมาณขยะในทะเล อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรมและขยะทะเล เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยสาเหตุทั้งจากภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่องทุกปี เกิดความเสียหายต่อปะการังเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงสาเหตุหลักจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การทำประมง การพัฒนาชายฝั่ง ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น สำหรับการปลูกฟื้นฟูปะการังและการเก็บขยะในทะเล จึงเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยแก้ไขลดปัญหาที่เกิดกับปะการังของบ้านเรา โดยโครงการนี้ กรม ทช.ได้เสนอให้เป็นการสนองพระดำริ ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงห่วงใยแนวปะการังและต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหาฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรม ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังในครีมกันแดดแล้ว ทางบริษัทฯ ยังสนับสนุนงบประมาณดำเนินการฟื้นฟูปะการัง และอีกหลายๆ โครงการ ทั้งนี้ขอขอบคุณ บริษัทฯ ผู้ประกอบการ นักดำน้ำ จิตอาสาทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรมดีๆ รวมถึงความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การฟื้นฟูปะการังต่อไป ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย และหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”
ด้านนายดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในนามผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอางมิสทิน เปิดเผยว่า ทางบริษัทฯ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสร่วมมือกับ กรม ทช. สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมรณรงค์ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนกฎหมายไม่ใช้สารต้องห้ามในครีมกันแดด ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่แนวปะการังของไทย พร้อมทั้งแสดงจุดยืนการสนับสนุนและปฏิบัติตามกฎด้วยการผลิต ผลิตภัณฑ์กันแดดทุกชนิดของมิสทิน ไม่มีสารต้องห้าม ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และรักษาระบบนิเวศท้องทะเลของไทยให้สวยงามต่อไป สืบเนื่องจากทางมิสทินได้มอบผลิตภัณฑ์กันแดดและสิ่งของเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจนเกิดเป็นกิจกรรม “ปลูกฟื้นฟูปะการังและดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง” ในวันนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกของปี 2567 ถือเป็นโอกาสดี ที่ได้ลงพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานที่ได้ร่วมโครงการฯ และมีส่วนในการสนับสนุนและขอขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านที่ร่วมใจกันและสนับสนุนส่งเสริมเพื่ออนุรักษ์ทะเลไทยของเราต่อไป
ด้านนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวเสริมว่า เกาะราชาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของกรมฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่จะได้รับการบริหารจัดการตามที่มาตรการกำหนด อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวฯ กรม ทช. ได้มีการจัดวางฐานลงเกาะของปะการังเพื่อช่วยในการฟื้นฟูปะการัง นอกจากนั้นในระยะยาวจะสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ลดผลกระทบที่จะเกิดต่อแนวปะการังธรรมชาติ วันนี้จึงเลือกจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นที่นี่ เพื่อฟื้นฟูโดยการเก็บปะการังที่แตกหัก และยังมีชีวิตอยู่มาใช้ จัดวางในที่ที่มีความมั่นคง สามารถที่จะเจริญเติบโตขยายเป็นระบบนิเวศปะการังต่อไป แต่เนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ และบุคลากร จึงก่อเกิดเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาคเอกชนอย่างวันนี้ คือ “มิสทิน” ซึ่งถือเป็นรูปแบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน หรือเรียกว่า Partnership เพื่อมาร่วมมือร่วมแรงกันอย่างต่อเนื่อง โดยผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในนามของผู้ที่ดูแลกิจกรรมในครั้ง ก็อยากให้มีรูปแบบดังกล่าวนี้ มี Partnership ใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันเพื่อสานต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป