กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ กำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(13 ส.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 38,036 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 14,154 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,153 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,457 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 16,000 ล้าน ลบ.ม.
จากสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนตกน้อย ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรหลายจังหวัดได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร และบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตประปา กรมชลประทาน ไม่นิ่งนอนใจเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง โดยสนับสนุนน้ำดิบส่งให้การประส่วนภูมิภาคผลิตประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค และดำเนินการสูบน้ำแจกจ่ายไปยังพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ต่างๆ กว่า 37 จังหวัด รวมการให้ความช่วยเหลือเครื่องสูบน้ำทั้งสิ้น 356 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำทั้งสิ้น 22 คัน ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 34 จังหวัด สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 303 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 3 คัน ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน 18 จังหวัด สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 53 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 19 คัน
ด้านสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ สุโขทัย และระนอง หลังได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนัก กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ โดยรวมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง-น้ำท่วม รวมทั้งเตรียมพร้อมทางด้านเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไว้ประจำในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ รวมกว่า 4,130 หน่วย ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน
**************************************
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์