คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เรื่องค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อของเจ้าหน้าที่ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด / กทม. พิจารณากำหนดค่าทดแทนตามความจำเป็น ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2.1 เท่า ให้สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ เน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด/ มัสยิด/โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน และจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย
วันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ
- ร่างอนุบัญญัติที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการ เฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อ โดยเมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นผู้พิจารณากำหนดค่าทดแทนตามความจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จะมีการชดเชย ความเสียหายให้แก่ทายาท เช่น ค่าทดแทน ค่าจัดงานศพ ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยให้อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ บุคลากรของสภากาชาดไทย หรือบุคลากรของสถานพยาบาล ทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ
- เห็นชอบการทบทวนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบสถานการณ์โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 17,783 ราย มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า มีผู้เสียชีวิต 25 ราย จาก16 จังหวัด โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำกับ อสม. ทำการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งรายงานตามระบบอย่างเข้มข้น โดยเน้นโรงเรียน โรงพยาบาล วัด/ มัสยิด/โบสถ์ โรงแรม สถานที่ราชการ โรงงาน และจ่ายยาทาหรือสเปรย์พ่นกันยุงแก่ผู้ป่วย ส่วนโรคติดต่อสำคัญที่ต้องกำจัดกวาดล้างตามพันธสัญญานานาชาติ ได้แก่ โรคหัด ซึ่งพบผู้ป่วยในกลุ่มเด็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายจังหวัด รวมทั้งชายแดนใต้ และ โรคไอกรน พบการระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้เริ่มมีแนวโน้มลดลง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้เร่งรัดมาตรการเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีน โดยให้วัคซีนเก็บตกในเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีน
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ดำเนินการภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งปีที่ผ่านมา พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ ส่วนปี 2567 ไม่พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังจำเป็นต้องคงมาตรการเฝ้าระวังสัตว์และผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรคลีเจียนแนร์ พบผู้ป่วยทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปี 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 14 ราย ได้ขอความร่วมมือสถานประกอบการที่พัก/โรงแรม ดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคลีเจียนแนร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวปลอดภัยของประเทศไทย