วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมประมง” โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าร่วมกว่า 600 คน ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมง พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ว่า กิจกรรมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงาน และบุคลากรในสังกัดกรมประมง รวมถึงสร้างการรับรู้ในแนวทางการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติราชการที่ถูกต้อง ชัดเจน เกิดประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการเปิดงาน ซึ่งได้เน้นย้ำให้กรมประมงขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญและเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการทั้ง 7 ข้อ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนโดยเร็ว
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคการประมงถือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ภาคการประมงมีมูลค่าสูงถึง 126,240 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมประมงที่ต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรประมง ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกรให้มีความกินดีอยู่ดี ตามเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร ผ่านการขับเคลื่อน 9 นโยบายสำคัญ ดังนี้
- จัดตั้งศูนย์บริการประชาชน สนับสนุนการทำงานของศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช และขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการประมงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาด้านการประมงที่มีเอกภาพและเป็นรูปธรรมในภาพรวม
- ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตรด้านประมง ได้แก่ MR. ปลานิล กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล และปลากะพงขาว พร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
- ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู รับมือภัยแล้ง/ภัยพิบัติธรรมชาติ โดยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านการวางแผนการรับมือภัยจากธรรมชาติ ควบคู่กับการวางแผนการผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำจืดและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อทดแทนสัตว์น้ำที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ภายในปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 256,000,000 ตัว
- ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย โดยบูรณาการทำงานร่วมกับทีมเฉพาะกิจพญานาคราช และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เพื่อยกระดับความเข้มข้นในการป้องกันการลักลอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าประมง
- ผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เป้าหมายกลุ่มเกษตรกรจำนวน 23 กลุ่ม 7 สินค้ามูลค่าสูง ได้แก่ ปลาสวยงาม กุ้งทะเลต้มสุก/แช่แข็ง กุ้งทะเลมีชีวิต ปลานิล กุ้งก้ามกราม ปลากะพงขาว และปูม้า พร้อมวางแผนผลักดันสัตว์น้ำไทยสู่ Soft power ในอนาคต เช่น ปลากัดไทย ปลาพลวงชมพู ปลานิลน้ำไหล เป็นต้น
- ส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร สนับสนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น โดยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการประมงจำนวน 200 ชุมชนทั่วประเทศ และเดินหน้าโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 มีเป้าหมายดำเนินการในแหล่งน้ำ 200 แห่งทั่วประเทศ
- ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พัฒนาสินค้าประมงที่ผลิตภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ สาหร่ายทะเล ไข่น้ำ ปูม้า และกุ้งก้ามกราม รวมถึงมีการดำเนินโครงการฟางมา ปลาโต สนับสนุนให้มีการนำฟางเหลือใช้จากการทำนามาเป็นวัตถุดิบในการสร้างอาหารสัตว์น้ำจากธรรมชาติ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและลดฝุ่น pm 2.5 จากการเผาฟาง
- สร้างระบบประกันภัย เกษตรกรไทย สุขใจถ้วนหน้า ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับพี่น้องเกษตรกรและชาวประมง อาทิ โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง โครงการประกันภัยเรือประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ฯลฯ
- บริการทางการเกษตรที่ใช่ เลือกใช้ให้เหมาะสม ด้วยการสนับสนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มีข้อสั่งการด้านการประมงเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรและชาวประมงอย่างเร่งด่วนอีก 7 ข้อสั่งการ ประกอบด้วย
- แก้ไขปัญหาการทำประมง โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงโดยตรง ซึ่งปัจจุบันกรมประมงได้มีการแก้ไขกฎหมายประมงลำดับรอง จำนวน 19 ฉบับ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. เพื่อให้บทบัญญัติบางประการสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และสามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ
- เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยแปลงสินทรัพย์ภาคการประมงด้วยการเพิ่มมูลค่าบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือกระชังและจัดตั้งเป็นกองทุนการประมง
- สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ ด้วยการดำเนินโครงการที่ส่งเสริมพัฒนาอาชีพชาวประมงและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวประมง ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วกว่า 107.808 ล้านตัว แบ่งเป็นสัตว์น้ำจืด 48 ชนิด จำนวน 83.490 ล้านตัว และสัตว์ทะเล 11 ชนิด จำนวน 24.318 ล้านตัว
- พัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการใช้สัตว์น้ำพันธุ์คุณภาพดี มูลค่าสูง โดยมีแผนปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดีทั้งหมด 14 สายพันธุ์ เช่น กุ้งก้ามกราม มาโคร 1, ตะเพียนขาวนีโอเมล ฯลฯ และพัฒนาสัตว์น้ำพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ กุ้งขาว เพชรดา 1 และกุ้งขาว ศรีดา 1 เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
- การเปิด / ขยายตลาดสินค้าเกษตรต่างประเทศ โดยส่งเสริมการแปรรูปสินค้าประมง และการเจรจาขยายตลาดสินค้าสัตว์น้ำไปยังต่างประเทศ เช่น การส่งออกกุ้งก้ามกรามไปยังประเทศจีน เป็นต้น
- การขยายผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพัฒนาพื้นที่โครงการหลวงด้านการประมงอย่างต่อเนื่อง
- ติดตามการดำเนินงานด้านการประมง โดยลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และรายละเอียดการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
“ผมให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากฎหมายที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพี่น้องชาวประมง ซึ่งกรมประมงก็สามารถแก้ไขกฎหมายประมงลำดับรองได้เรียบร้อยแล้วทั้ง 19 ฉบับ การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่ต้องบูรณาการการทำงานกับหลายภาคส่วน การแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงเถื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศ เกษตรกรเสียโอกาสทางการตลาดซึ่งถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยมีเป้าหมายเดียวคือช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ชาวประมง ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจภาคประมง ให้มีอาชีพที่มั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการสร้างศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และมีแผนสนับสนุนให้มีการแปรรูปสินค้าประมงทุกจังหวัด เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต กระจายรายได้สู่ชุมชนต่อไป” …รัฐมนตรีฯ กล่าว
สำหรับงานในวันนี้ ยังมีการมอบแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการของกรมประมง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยอธิบดีกรมประมง และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทำงานให้สนุก ในยุคการเปลี่ยนแปลง” จาก นายเสน่ห์ ศรีสุวรรณ นักพูดชื่อดังที่จะมาบอกเล่าเคล็ดลับในการทำงานอย่างไรให้มีความสุขและเกิดประสิทธิภาพภายใต้การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมอภิปรายประเด็นปัญหา แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การปฏิบัติราชการกรมประมง เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจให้เกิดการต่อยอดแนวความคิดใหม่ ๆ ที่ส่งผลให้การทำงานประสบความสำเร็จ
กรมประมงพร้อมที่จะขับเคลื่อนภารกิจตามข้อสั่งการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการธุรกิจประมง ชาวประมง และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการประมงของประเทศไทยต่อไป …อธิบดีฯ กล่าว