รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้ใช้งานระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน MOPH FDH ทั่วประเทศ รองรับการขยายเบิกจ่าย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เฟสสองและทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2567 พร้อมเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการในอนาคต ใช้ระบบดิจิทัลรับส่งข้อมูลตัวเลข เบิกจ่ายแบบเรียลไทม์ ช่วยลดความซ้ำซ้อน ลดภาระงาน โดยกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ลงนามความร่วมมือ พัฒนาและออกแบบระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขผ่านระบบ MOPH FDH ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใสและตรวจสอบได้
วันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ใช้งานระบบ MOPH Financial Data Hub เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” พร้อมมอบนโยบายเรื่องการบริการและเชื่อมโยงข้อมูลตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลการเบิกค่าบริการสาธารณสุข ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (MOPH Financial Data Hub) หรือ “FDH” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล และข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ ระหว่างหน่วยบริการและกองทุนสิทธิการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มให้หน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 902 แห่ง ทดลองส่งข้อมูล พบว่า สามารถส่งข้อมูลมายัง FDH ได้ครบทุกแห่งในระยะเวลาเพียง 38 วัน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง 30 บาท) สำหรับหน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส รวม 49 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ที่เริ่มดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จนถึงขณะนี้มียอดเรียกเก็บมากกว่า 5 แสนราย เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท โดย สปสช.เร่งดำเนินการให้มีการอนุมัติมากกว่า 8 หมื่นราย โอนเงินสำเร็จกว่า 3 หมื่นราย มีเงินชดเชยพึงรับเกือบ 5 ล้านบาท
“ต้องขอบคุณความร่วมมือจาก สปสช. และหน่วยบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง ที่ร่วมดำเนินการจนทำให้เห็นข้อมูลเป็นปัจจุบันผ่าน Dashboard จากนี้เป็นต้นไป FDH จะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายกับกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในหน่วยบริการ 8 จังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่สอง และเชื่อมโยงทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะครอบคลุมผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเกือบ 47 ล้านคน คิดเป็น 70% ของสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนไทย และระยะถัดไปจะขยายการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายไปยังกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยการพิจารณาเงื่อนไขการเบิกจ่ายจะเป็นอำนาจของแต่ละกองทุน” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การเชื่อมข้อมูลการเบิกจ่ายกับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นการนำร่องเพื่อให้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นเข้ามาร่วมดำเนินการกับกระทรวงสาธารณสุขโดยสมัครใจ เพราะไม่ได้เป็นการเข้าไปข้องเกี่ยวกับระบบภายในของแต่ละกองทุน โดยระบบ FDH จะทำหน้าที่เสมือนเป็นเคลียริงเฮาส์ ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการเบิกจ่ายและการดูแลข้อมูล เพราะเป็นระบบดิจิทัลที่เชื่อมทุกกองทุน และแสดงตัวเลขแบบเรียลไทม์ ทำให้เบิกจ่ายสะดวกรวดเร็ว ถือเป็นการพัฒนาเชิงระบบ ช่วยลดภาระงานในการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน เตรียมข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ของทุกกองทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยบริการ อีกทั้งยังวิเคราะห์และประมวลผล พร้อมแสดงข้อมูลในรูปแบบ Business Intelligence สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางนโยบายด้านสาธารณสุขได้ชัดเจนและตรงตามเป้าหมาย ช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อน ลดความผิดพลาด ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบ MOPH FDH ทั้งแนวทางการให้บริการและส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการขอรับค่าใช้จ่าย และการตรวจสอบการเบิกจ่ายของหน่วยบริการ รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินงานของ 4 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ฯ ให้ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่าย สะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมไปถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และสิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย ทุกพื้นที่ โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บุคลากรผู้รับผิดชอบงานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง โรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมรวม 440 คน
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในส่วนของการลงนามบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นการร่วมกันพัฒนาและออกแบบระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุข กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่าย พัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล รวมทั้งฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานระบบ และแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลเพื่อการเบิกจ่ายที่มาจากทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน MOPH FDH ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี