กระทรวงพาณิชย์จัดสัมมนาใหญ่ปิดท้ายปีงบประมาณ 62 “มหากาพย์สงครามการค้า…เมื่อพญาอินทรีไล่ขยี้พญามังกร”

กระทรวงพาณิชย์ ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการจัดสัมมนา “มหากาพย์สงครามการค้า…เมื่อพญาอินทรีไล่ขยี้พญามังกร” ซึ่งในงานนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ มากกว่าทุกครั้งคือกว่า 1,200 คน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่างานสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลียร์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าฟังสัมมนาจำนวนมาก โดยกระทรวงฯ ได้รับเกียรติจากท่านพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากประสบการณ์ในหลากหลายสาขา (เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย สังคมและวัฒนธรรม) ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความสำคัญของเหตุการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอมเริกา ที่มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อและขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าแค่การค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันสงครามได้ลามไปถึงด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินระหว่างประเทศด้วย อีกทั้ง จีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจของโลก และไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศทั้งสอง จึงได้รับผลกระทบต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนา “มหากาพย์สงครามการค้า…เมื่อพญาอินทรีไล่ขยี้พญามังกร” ว่าต้องการเปิดโอกาสให้เป็นเวทีในการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยน  มุมมองของภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ เพื่อให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูล เชิงลึกและเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและใช้ความรู้ดังกล่าวในการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจและแนวทางรับมือกับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤติดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวม   ยังมีขีดความสามารถและภูมิคุ้มกันที่จะรองรับแรงปะทะจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงยังมีโอกาส   และช่องทางส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ และสินค้าจีนได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องนุ่งห่ม หรืออุตสาหกรรมเบา โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทยที่มีแต้มต่อจากการได้รับสิทธิประโยชน์ GSP (Generalized System of Preferences) จากสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าเหล่านั้นมีศักยภาพที่จะไปทดแทนสินค้าจีนได้

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์เราได้เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้า สร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้า เช่น เจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และรื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีของไทยกับสหภาพยุโรปใหม่ พัฒนาด้าน E-Commerce กระทรวงพาณิชย์ไม่เพียงมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความรู้และเข้าใจความสำคัญของการค้าผ่านช่องทาง E-Commerce โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการขนาดย่อม (Micro SMEs) รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และเกษตรกร และล่าสุดเราได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ. พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก รวมถึงผลักดันให้การส่งออก ของไทยให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

———————–

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ

13 สิงหาคม 2562