สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงความหาญกล้าของผู้หญิงในอดีตที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตน และเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำและถูกเลือกปฏิบัติจากอคติทางเพศ ผู้หญิงจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ทั้งความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ โดยมีรายงานระบุว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว เช่น อดีตคนรัก บุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา และพบว่าผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ มากกว่า 7 คนต่อวัน ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ ผู้หญิงจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อม ขณะที่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อถูกทำร้ายหรือกระทำทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตร บางกรณีไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง และในเหตุรุนแรงหลายกรณี เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้ผู้หญิงได้ เช่น กรณีตำรวจไม่รับแจ้งความจากหญิงรายหนึ่งซึ่งถูกอดีตสามีทำร้ายถึง 3 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาเหล่านี้ยังมีความอ่อนไหวมากขึ้นเมื่อเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิงและเด็กหญิงที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ หญิงพิการ หรือผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ โดยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนปีที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมติที่เสนอแนะให้รัฐบาลกำหนดให้การยุติความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ และให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยพิจารณาจากต้นเหตุรากเหง้าของความรุนแรง ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อจัดเก็บข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างเป็นระบบ โดยจำแนกข้อมูลตามอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ท้องที่ภูมิศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลประจำปี 2567 กสม. จึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็กหญิงที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงทุกรูปแบบ กล้ายืนหยัดในสิทธิของตนที่จะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจ รวมทั้งขอให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าเพศใด เคารพสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ปรับทัศนคติเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ตลอดจนขอให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการจัดบริการที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง เช่น บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ตามสิทธิที่กำหนดไว้ในกฎหมาย การจัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงที่เพียงพอ การสร้างเสริมศักยภาพของผู้หญิงและส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับ เพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรง
พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ