“สุดาวรรณ” ย้ำให้ ททท.โปรโมทต่างชาติเดินทางเข้าไทยร่วมงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ที่จะจัด 21 วันในเดือนเมษายนนี้ ดันให้ติดเทศกาลระดับโลกให้ได้ เผยนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมเวิร์คช็อปปั้นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ของโลก
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการเข้าร่วมงาน International Tourismus Borse หรือ ITB Berlin 2024 มหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค. 2567 ที่ศูนย์การจัดนิทรรศการ Messe Berlin Exibition Ground กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ย้ำให้ผู้อำนวยการสำนักงานยุโรป ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งโปรโมทและชักชวนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคยุโรปเดินทางไปเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย
โดยในปีนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 รวม 21 วัน เพื่อประชาสัมพันธ์เทศกาลสงกรานต์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลและผลักดันให้ประเทศไทยติดหนึ่งใน 10 ประเทศสุดยอดเทศกาลของโลก ภายใต้ชื่อ Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ในโอกาสที่ยูเนสโก้ ประกาศขึ้นทะเบียนให้สงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการในบัญชีตัวแทนตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จะมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพและพื้นที่อัตลักษณ์ห้าภูมิภาคทั่วประเทศไทย
“ในปีนี้จะมีการจัดขบวนรถพาเหรดสงกรานต์จากกลุ่มจังหวัดเป้าหมาย 16 จังหวัด 11 ซอฟพาวเวอร์ การจัดกิจกรรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม โขนและรำมโนราห์ การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกิจกรรมสงกรานต์ 5 ภาค เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ไทยที่โดดเด่นในแต่ละภูมิภาค”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อไปว่า เพื่อตอบโจทย์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทย IGNITE THAILAND ต้องการให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก (Tourism Hub)และสอดรับกับการสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation Hub) ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์คช็อปหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งสิ้น 60 หน่วยงานเพื่อตอบโจทย์ 4 มาตรการ ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างก้าวกระโดด โดยนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมด้วย
สำหรับ 4 มาตรการที่จะตั้งเป็นโจทย์ให้หารือกัน ประกอบด้วย
- เมืองหลักและเมืองรองต้องเป็นเมืองท่องเที่ยว เฟ้นหา Soft Power เพื่อหาเสน่ห์ของประเทศไทย โดยต้องหาจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดและความต้องการของนักท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางเข้าถึงที่สะดวกและปลอดภัย มีการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งต้องเตรียมพร้อมระบบด้านสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการที่ดี
- การสนับสนุนให้มีเทศกาลระดับโลก ประเทศไทยจะไม่หลับใหล จะมีงานเทศกาล งานคอนเสิร์ต งานศิลปะ งานแสดงสินค้าในประเทศไทยตลอดทั้งปี และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ เป็นเม็ดเงินลงทุนหลักแสนล้านบาท
- ผลักดันการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะต้องมีการยกเว้นการตรวจลงตราหรือ VISA FREE ให้นักท่องเที่ยว เช่น ที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการแล้วกับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน เพื่อเปิดประตูรอรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเฉพาะประชากรจากชาติดังกล่าวรวมกันมีมากถึง 2,900 ล้านคน โดยแนวทางการขับเคลื่อนต้องบริหารการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางเข้า – ออกประเทศ มีการบริหารจัดการกระแสการเดินทางที่ไม่ทำให้เกิดการกระจุกตัว ไม่ส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม และการนำเสนอและบริหารภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยที่ปลอดภัย มีคุณค่าและยั่งยืน
- การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ปรับเวลาเปิดสถานบริการ ปรับเปลี่ยนเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนุนการเฉลิมฉลองในสนามกีฬา ซึ่งจะต้องรับฟังความเห็นจากนักท่องเที่ยวและผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันการแก้ไขปัญหาพร้อมบังคับใช้กฎหมายการหลอกหลวง และมีการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวด้วย
“ทั้ง 4 แนวทางดังกล่าวจะต้องมีการติดตามความเห็นของนักท่องเที่ยวต่อประสบการณ์ท่องเที่ยวในไทยผ่านช่องทางต่างๆ ที่สำคัญต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเมื่อได้เวิร์คชอปและจัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะประกาศแผนเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก ภายในเดือนมีนาคมนี้”