กรมการค้าภายใน จับมือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์ รณรงค์บริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น หลังผลผลิตล้นตลาด 8,000 ตัวต่อวัน หวังช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศขายหมูหน้าฟาร์มได้ราคาสูงขึ้น พร้อมขอความร่วมมือห้างงดจัดโปรโมชั่นช่วงนี้ หวั่นไปกดราคาซื้อ-ขาย
ภายหลังเกิดการระบาดอย่างหนักของหมูเถื่อน ที่มีการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เกิดการแทรกแซงราคาหมูในระบบ ทำให้ราคาหมูภายในประเทศมีราคาถูกลง ประกอบกับผลผลิตของหมูออกสู่ท้องตลาดเกินความต้องการ ทำให้ราคาขายหมูเป็นหรือหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม มีราคาต่ำกว่าต้นทุน กระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ล่าสุดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้จับมือกับกรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการของตลาดเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัว ขณะนี้ผลผลิตอยู่ที่ 5.8 หมื่นตัว เกิดความต้องการอยู่ประมาณ 8 พันตัว จึงต้องหาทางเร่งระบายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด ด้วยการจัดรณรงค์ให้มีการบริโภคเนื้อหมู หรือ อาหารที่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ เพิ่มมากขึ้น พร้อมความร่วมมือไปยังห้างค้าส่ง ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต ให้งดการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเนื้อหมูในช่วงนี้ เพราะราคาถูกอยู่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 130 บาท และหากมีการนำเนื้อหมูมาจัดโปรโมชั่น จะยิ่งไปกดราคารับซื้อหมูให้ถูกลง นอกจากนี้บางส่วนยังผลักดันให้ทำหมูหัน เพื่อตัดวงจรและระบายสินค้าเพิ่มเติม
สำหรับสถานการณ์ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 67-68 บาท โดยต้นทุนการเลี้ยง ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่าอยู่ที่ กก.ละ 72 บาท ซึ่งราคายังคงขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การตัดวงจรหมู จะช่วยดึงราคาให้สูงขึ้น และกรมยังจะเข้าไปช่วยดูแลในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ พบว่า แนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง โดยขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ กก.ละ 10.26 บาท ปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งปี 12.67 บาท กากถั่วเหลือง เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ.2567 กก.ละ 13.92 บาท ปีที่แล้ว กก.ละ 16.84 บาท ข้าวสาลี กก.ละ 7.74 บาท ปีที่แล้ว กก.ละ 8.23 บาท ปลาป่น กก.ละ 32 บาท ปีที่แล้ว กก.ละ 36.61 บาท
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า โครงการลดจำนวนลูกสุกรที่จะเข้าสู่ระบบการผลิต ด้วยการนำไปทำหมูหันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาหมู ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) จะเริ่มในวันที่ 11 มีนาคม 2567 นี้ โดยหวังว่า จะดึงราคาหมูขุนให้ปรับสูงขึ้นกว่าต้นทุน ระหว่างนี้กำลังจัดสรรโควต้าและกำหนดขั้นตอนการชดเชยแก่ผู้เลี้ยงให้เกิดความโปร่งใส สำหรับจำนวนลูกหมู ขนาด 3-7 กิโลกรัม ที่จะตัดวงจรการเข้าขุนกำหนดไว้ 450,000 ตัวในระยะเวลา 90 วันหรือเฉลี่ย 5,000 ตัวต่อวัน ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนหมูขุนเข้าเชือดในแต่ละวัน