รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นความสำเร็จ นโยบายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ในการยกระดับ ปรับระบบสุขภาพเพื่อประชาชน เฟสแรก ผ่านไป 2 เดือน ผู้รับบริการ รพ.ใหญ่และข้ามเขต เพิ่มขึ้นไม่ถึง 9% ประชาชนพึงพอใจรับยาผ่าน Health Rider ถึง 99% ตั้งแต่ 1 มีนาคม เดินหน้าเฟสสองอีก 8 จังหวัด เผย เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพครบทุกแห่งทุกกองทุนสุขภาพแล้ว ให้บริการทั้งนัดหมายออนไลน์ การแพทย์ทางไกล ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล และ Health Rider ควบคู่ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ เตรียมคิกออฟอย่างเป็นทางการโดยนายกฯ เศรษฐา 30 มีนาคมนี้
วันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวความพร้อมการขับเคลื่อน “นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชน ใบเดียว ระยะที่ 2” โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมาเร่งรัดดำเนินการทันที โดยคิกออฟระยะแรกไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ขณะนี้ผ่านมาประมาณ 2 เดือน พบว่า ประชาชนให้การตอบรับดีมาก เนื่องจากเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้สะดวก รวดเร็ว และใกล้บ้าน ลดระยะเวลาในการรอคอย จากการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้รับบริการ (Health ID) และมีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) ทำให้เรียกดูประวัติการรักษาได้ทุกสถานบริการ อีกทั้งมีระบบบริการดิจิทัล ทั้งการออกใบรับรองแพทย์ การนัดหมายออนไลน์ การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล รวมถึงจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ถึงบ้านผ่าน Health Rider ไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาล โดยผลสำรวจความพึงพอใจการรับบริการ Health Rider ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ -1 มีนาคม 2567 พบว่า ภาพรวมพึงพอใจสูงถึง 99.6% แบ่งเป็น ด้านความรวดเร็ว 99.2% ด้านเจ้าหน้าที่ส่งยา 99.5% ความสมบูรณ์ของพัสดุ 100% ความมีประโยชน์ 99.8% และช่วยลดระยะเวลารอคอย 99.5%
“ส่วนข้อกังวลเรื่องผู้ป่วยจะเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ จากข้อมูลพบว่าเพิ่มขึ้นเพียง 8.7% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก การใช้บริการข้ามพื้นที่เพิ่มประมาณ 6.9% บางแห่งไม่เกิน 5% ไม่มีผลกระทบต่อภาระงานและบุคลากร ขณะที่การเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ 49 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม – 1 มีนาคม 2567 มียอดเรียกเก็บรวม 624,437,769.19 บาท จาก 545,283 ราย” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับการเดินหน้ายกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา ขณะนี้ มีความพร้อม 100% โดยได้เชื่อมโยงข้อมูล PHR ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพแล้ว ภาพรวม 8 จังหวัด มีประชาชนลงทะเบียน Health ID แล้ว มากกว่า 2 ล้านคน จังหวัดพังงาลงทะเบียนสูงสุดเกือบ 50% บุคลากรทางการแพทย์ยืนยันตัวตน Provider ID แล้ว 3.9 หมื่นคน โดยนครราชสีมาและสระแก้ว ยืนยันมากกว่า 90% มีการให้บริการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล การแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล ครบทั้ง 8 จังหวัด จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ผ่าน Health Rider แล้ว 62 แห่ง ใน 6 จังหวัด คิดเป็น 64.6% รวม 1,719 ออเดอร์ โดยสระแก้วและพังงาอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนบริการนัดหมายออนไลน์ผ่านหมอพร้อมอยู่ระหว่างดำเนินการให้ครอบคลุมทุกโรงพยาบาล
สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้ประเมินความเสี่ยงของโรงพยาบาลในระยะที่ 2 ทั้ง 96 แห่ง เพื่อยกระดับการป้องกันและสร้างความปลอดภัย โดยมีการอัปเกรดคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการของโรงพยาบาล ให้รองรับระบบการให้บริการใหม่ เพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งบุคลากรและประชาชน รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช.เร่งทำข้อสรุปหลักเกณฑ์และกระบวนการเบิกจ่าย การยืนยันตัวตน การเปิดสิทธิ์ ปิดสิทธิ์ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้หน่วยบริการภาคเอกชนมั่นใจและเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานคิกออฟยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2 อย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 30 มีนาคม และในเดือนพฤษภาคม จะเพิ่ม 20 จังหวัด จากนั้นขยายครอบคลุมทั้งประเทศ ภายในปี 2567 นี้