คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 เพิ่มศักยภาพวิจัยนวัตกรรม สร้างมูลค่าให้ประเทศกว่า 10,000 ล้านบาท ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบยาและสมุนไพรในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้า เน้นส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งเร่งพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล มุ่งสู่ระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนสามารถเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึงและปลอดภัย
วันที่ 4 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการฯ ได้ประกาศแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาโดยร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา
- พัฒนากลไกการเข้าถึงยาถ้วนหน้า ราคายาที่สมเหตุผล ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
- พัฒนากลไกสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
- การจัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ และเห็นชอบแผนส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบยาและสมุนไพรในประเทศระยะสั้น เช่น สารสกัดฟ้าทะลายโจร เป็นต้น รวมทั้งเร่งพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลภายในปี 2575
ทั้งนี้ การนำร่างแผนปฏิบัติการด้านยาฯ ไปสู่การปฏิบัติ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการวิจัยยานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วและสร้างมูลค่าให้ประเทศกว่า 10,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนผ่านกลไกปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมียาสำคัญ เช่น ยาอดเหล้า 2 รายการ ยานาลเทรกโซน และยาอะแคมโพรเสต เพื่อช่วยบำบัดรักษาผู้ติดสุรา รวมทั้งเพิ่ม “วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์” ให้บริการในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเด็กแรกเกิดทุกราย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเพิ่มสมุนไพรไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ อีกจำนวน 2 รายการ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายจากการกำหนดราคากลางของยาที่มีราคาแพง ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้กว่า 800 ล้านบาทต่อปีในปี 2567 ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลสอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวย้ำว่า รัฐบาลจะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีแผนงานเร่งรัดขับเคลื่อน (นวัตกรรม) เศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ พร้อมกับยกร่างกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบวงจร และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนให้ระบบยามั่นคงด้วยการวิจัยพัฒนา ประเทศมีการจัดหายาจำเป็นไว้ใช้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน