กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 8/2567

เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯ แนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT – หารือ ตร. ยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ร่วมพัฒนาโรงพักต้นแบบไร้การทรมาน – ชี้ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศทางทะเล

วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 8/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. เวทีเสวนา กสม. พอใจการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานฯ ในรอบปี เสนอแนะสร้างความตระหนัก เสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture: APT) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ในเวทีดังกล่าว ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ชี้แจงถึงการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ทั้งด้านบุคลากร การออกกฎหมายลำดับรอง รวมถึงระเบียบที่จำเป็น การจัดหาอุปกรณ์และระบบ กลไกในการทำงาน โดยเฉพาะกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่สำหรับบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมและสอบสวน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อเพิ่มอีก 40,000 ตัว โดยจะมีการส่งมอบในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกับทางดีเอสไอ และกรมการปกครองที่ได้จัดหากล้องให้เจ้าหน้าที่เช่นกัน นอกจากนี้กรมการปกครองยังได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุ 878 อำเภอทั่วประเทศ ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเรื่องร้องเรียนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง

พัฒนาการที่สำคัญประการหนึ่งจากกฎหมายฉบับนี้ คือ หากประชาชนผู้ใดพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานทรมาน หรือบังคับให้สูญหาย สามารถแจ้งเหตุได้กับทั้งตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

การบังคับใช้กฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา แม้มีอุปสรรคหรือข้อขัดข้องอยู่บ้าง แต่ก็มีความพยายามแก้ปัญหา และยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด อย่างคดี “ลุงเปี๊ยก” ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษก็จะขอให้ทางฝ่ายปกครองและอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย ซึ่งขณะนี้ต้องถือว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการทรมานฯ มากขึ้น แต่การร้องเรียนยังมีค่อนข้างน้อย มีคดีที่ดำเนินการอยู่ไม่กี่คดี

สำหรับการเสวนาในประเด็นข้อท้าทายและความคาดหวังต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ถือเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมของไทยในหลายมิติ และไปไกลกว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนอกจากจะยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนจากการถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังจะช่วยคุ้มครองและเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เมื่อถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนในคดีอาญาด้วย

ผู้ร่วมเสวนาพอใจที่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมา และค่อนข้างพอใจกับการบังคับใช้กฎหมายในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยพบว่า การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องเหล่านี้ลดน้อยลง เจ้าหน้าที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ขณะที่นางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ผู้เสียหายจากกรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร และเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อปี 2554 ได้สะท้อนประสบการณ์การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ตายซึ่งเป็นน้าชาย ว่า เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากถูกสกัดกั้นการเข้าถึงความยุติธรรม เจออิทธิพลของผู้มีอำนาจและความล่าช้าในการดำเนินคดี เป็นเหตุให้ต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 ปี กว่าคดีจะถึงที่สุดและได้รับการเยียวยา เชื่อว่ากฎหมายป้องกันการทรมานฯ จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับเหยื่อที่ถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษที่เหมาะสมตามฐานความผิดที่กระทำ และย่นระยะเวลาในการดำเนินคดีได้ โดยหวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความระมัดระวังในการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนผู้พบเห็นเหตุการณ์ในการร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำทรมานหรือบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

ช่วงท้ายของการเสวนามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นก้าวต่อไปกับการป้องกันการทรมาน โดยมีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงขยายความร่วมมือให้กว้างขวาง ให้รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงศึกษาธิการ สื่อมวลชน บทบาทเยาวชน และสภาทนายความ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้รัฐบาลไทยเร่งเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture: OPCAT) ที่กำหนดให้มีกลไกป้องกันระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) ทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง และจัดทำข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการป้องกันมิให้มีการทรมานเกิดขึ้น

“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แม้จะพบปัญหาและข้อท้าทายในเชิงปฏิบัติที่จำเป็นต้องถอดบทเรียน แต่เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความตื่นตัวและความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ กสม. ขอสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสาร OPCAT ตามที่เคยให้คำมั่นต่อนานาชาติ โดย กสม. ได้เตรียมการและเตรียมความพร้อมในการเป็นกลไกป้องกันการทรมาน (NPM) ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยแล้ว” นายวสันต์ กล่าว

2. สำนักงาน กสม. หารือ ตร. ยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร ร่วมพัฒนาโรงพักต้นแบบไร้การกระทำทรมาน

นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กำหนดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธารเป็นประเด็นสำคัญของงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 เนื่องจากการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นประเด็นที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากประชาชน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กสม. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ประชาชนที่พ้นโทษพ้นผิดได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้าด้วย

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture: OPCAT) ซึ่งมีเนื้อหาหลักในการพัฒนาระบบการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (deprivation of liberty) ที่เข้าข่ายการเป็นสถานที่ควบคุมตัว ภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น สถานีตำรวจ โรงพัก ห้องขัง เรือนจำ สถานที่ควบคุมตัวของทหาร พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันจิตเวช และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาส และการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) เพื่อรองรับการตรวจเยี่ยมของคณะอนุกรรมการป้องกันการทรมานแห่งสหประชาชาติ (SPT) เพื่อนำเสนอข้อค้นพบ หรือข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลและหน่วยรับการตรวจเยี่ยม นั้น กสม. เห็นความสำคัญในการประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ ตร. เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างและระบบการทำงานในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธารตั้งแต่ขั้นตอนการรับแจ้งความ การจับกุม การคุมขัง การออกหมายอาญา การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และการเร่งรัดดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. ได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ต. ชัช สุกแก้วณรงค์ รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) และ พล.ต.ต. วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานสำคัญหลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และการเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) โดย ตร. เห็นพ้องกับสำนักงาน กสม. ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจที่เน้นการสร้างมาตรฐานทั้งทางกายภาพและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหา หรือผู้ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ และเลือกสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจจากทั้งหมด 1,484 แห่งทั่วประเทศ เพื่อค้นหา พัฒนา และยกระดับเป็น “โรงพักต้นแบบ” ตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากการกระทำทรมานต่อไป

3. กสม. ชี้ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศทางทะเล แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่า อ่าวปัตตานีซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอในจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานีและอำเภอยะหริ่ง เดิมมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ทะเล ประชาชนรอบอ่าวจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับอ่าวปัตตานีโดยประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ต่อมาในปี 2562 หน่วยงานของรัฐโดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า (ผู้ถูกร้องที่ 1) เห็นว่า อ่าวปัตตานีตื้นเขิน จึงได้ดำเนินโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่เป็นเพียงการให้ประชาชนยกมือแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และไม่ได้แจ้งข้อมูลโครงการและผลกระทบของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบอย่างเพียงพอ ต่อมาเมื่อหน่วยงานของรัฐเข้าขุดลอกร่องน้ำในอ่าว ก็ไม่ได้นำทรายไปทิ้งที่อื่น ทำให้เกิดเป็นสันดอนทรายซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีการเดินเรือของชาวประมงพื้นบ้านแล้ว ยังทำให้หน้าดินใต้ท้องทะเลได้รับความเสียหายเกิดเป็นตะกอนน้ำขุ่น รบกวนระบบนิเวศทางทะเลและทำให้ปริมาณสัตว์ทะเลลดน้อยลงจนส่งผลโดยตรงต่อชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ แม้ในภายหลังจังหวัดปัตตานี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ได้แก้ไขปัญหาสันดอนทรายโดยการขุดและดูดทรายออกแล้ว แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงได้รับผลกระทบ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วม การจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ได้กำหนดให้รัฐภาคีรับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และสภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 สิทธิในการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการจัดประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรอบอ่าวปัตตานีได้รับทราบข้อมูล ก่อนดำเนินโครงการได้จัดประชุมชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และได้ขอให้ประชาชนลงมติโดยการยกมือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยประชาชนไม่รับทราบข้อมูลผลกระทบด้านลบทั้งด้านทรัพยากรทางทะเลและการประกอบอาชีพของชุมชน หรือมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ กระบวนการและขั้นตอนการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนในการดำเนินโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี จึงไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 2 การกำกับดูแลการดำเนินโครงการ เห็นว่า สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย โดยโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ EIA เนื่องจากไม่ได้อยู่ในประเภทโครงการที่ต้องจัดทำ EIA ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแม้ว่าจะมีการศึกษาและจัดทำรายงานศึกษาและวางแผนการทิ้งวัสดุขุดลอก รวมทั้งการศึกษาในด้านอื่น ๆ แล้ว แต่ยังขาดการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน เช่น มิติด้านสังคมและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนรอบอ่าว นอกจากนี้ แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ทรายและวัสดุไหลกลับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังการขุดลอกอ่าวปัตตานีแล้วเกิดสันดอนทราย และอ่าวปัตตานียังคงตื้นเขิน ขณะที่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดปัตตานี ผู้ถูกร้องที่ 2 โดยการขุดและดูดทรายออกจากสันดอนทราย ก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ ทั้งยังเป็นไปอย่างล่าช้า จึงเห็นว่ามาตรการในการกำกับดูแลของผู้ถูกร้องทั้งสองไม่อาจป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการทำลายระบบนิเวศและส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 3 ผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ่าวปัตตานีเป็นระบบนิเวศทะเลซึ่งกระแสน้ำและลมจะพัดพาตะกอนและทรายกลับเข้ามาทับถมและถ่ายออกไปจากอ่าวตามธรรมชาติ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีของผู้ถูกร้องที่ 1 นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าวได้ ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยการขุดลอกทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนดินและทรายเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทะเล ขณะที่สันดอนทรายซึ่งเกิดจากการขุดลอกอ่าวยังทำให้ระบบการหมุนเวียนของทรายในอ่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศมากเกินสมควร นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยในระหว่างที่มีการขุดลอกอ่าว เมื่อน้ำทะเลลดลงต่ำสุด ชาวบ้านไม่สามารถแล่นเรือและใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในการประกอบอาชีพได้ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบางส่วนต้องสูญเสียอาชีพและไม่ได้รับการเยียวยาที่เป็นรูปธรรม จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า และจังหวัดปัตตานี ให้งดเว้นการดำเนินโครงการที่จะมีผลกระทบรบกวนระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในอ่าวปัตตานีเป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี เพื่อให้ระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ จากนั้นให้สำรวจ ศึกษาปัญหา ผลกระทบ การฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอ่าวปัตตานี โดยให้มีมาตรการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อกำหนดแผนหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหา และให้จังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนรอบอ่าวปัตตานี โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตและประกอบอาชีพคู่กับอ่าวปัตตานีได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปยังจังหวัดปัตตานี ให้นำแผนหรือแนวทางการสำรวจและศึกษาปัญหาและผลกระทบ การฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอ่าวปัตตานี บรรจุเข้าไว้ในแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่เกี่ยวกับการขุดลอก โดยให้ศึกษาเงื่อนไขของขนาดพื้นที่ในการขุดลอกที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ไว้ในประกาศ รวมทั้ง ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาและถอดบทเรียนเรื่องการขุดลอกในพื้นที่ระบบนิเวศแบบทะเลโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วย