อย. จับมือภาคีเครือข่ายครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สร้างผู้ประกอบการฐานรากเข้มแข็ง เปิดโอกาสในการแข่งขันสู่ระดับสากล
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดสัมมนาภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน ปี 2567 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน และเจ้าหน้าที่ อย. เข้าร่วมประชุมจำนวน 170 คน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันในการส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนสู่สากล
โดยนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการฐานราก เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการสร้างเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเปิดโอกาสในการแข่งขันให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดระดับประเทศและตลาดโลกได้ ซึ่งการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการฐานรากนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อย. จึงได้จัดการอบรมสัมมนาภาคีเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBIs) นอกจากนี้ ยังมีแผนงานลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
การผนึกกำลังภาคีเครือข่ายครั้งนี้จะช่วยลดอุปสรรคที่เป็นปัญหาการพัฒนาผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากในปัจจุบัน เช่น การขาดความเข้าใจกฎระเบียบของภาครัฐ การขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขาดงานวิจัยรองรับเรื่องความปลอดภัยหรือการยืดอายุผลิตภัณฑ์การจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพการขาดทักษะด้านวางแผนธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือของ ทุกภาคีอย่างครบวงจร ทำให้การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างโอกาส สร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง