โฆษก ศธ.ลั่น “ยกเลิกครูเวร” ทำแล้วต้องทำให้ถึง วอนทุกโรงเรียนอย่าเลี่ยงบาลี ความปลอดภัยพี่น้องเพื่อนครูต้องมาก่อน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีเพจชื่อดังในโลกออนไลน์แชร์ประเด็น “บรรดาคุณครูฝากตั้งคำถามมาครับหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นให้ครูไม่ต้องอยู่เวรยามในโรงเรียนแล้วแต่ผู้บริหารสถานศึกษากลับมีคำสั่งให้ ตรวจตรา แทนกัน แบบนี้ได้หรือครับ ศธ.360 องศา มีคำชี้แจงให้คุณครูไหมครับ” นั้น

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน​ ชิด​ชอบ​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ ห่วงใยความปลอดภัย​ของครู​ และให้ความสำคัญ​กับการลดภาระครู​ การคืนความสุข​ให้ครูมาตลอด​ โดยเน้นย้ำกับผู้บริหารสถานศึกษา​ในเรื่องยกเว้นให้ครูไม่ต้องอยู่เวร แต่ยังมีผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งอาจมีความกังวลเมื่อไม่มีครูเวร ทั้งที่มีข้อสั่งการชัดเจนจาก สพฐ. มีหนังสือแจ้งไปยังพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศให้เข้าใจและถือปฏิบัติร่วมกัน

ทั้งนี้​ผู้บริหาร​สถานศึกษา​ที่ยังมีความกังวลอยู่​ สามารถ​นำมาตรการ​ของโรงเรียนขนาดใกล้เคียง​กัน​ ที่ดำเนินการ​ยกเลิก​เวรครู​ แล้วใช้แนวทางอื่นมาช่วยในการรักษา​ความปลอดภัย​ เช่น การใช้พนักงานรักษาความปลอดภัย​การติดตั้งกล้องวงจรปิด​ การประสานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่หรือประสานตำรวจมาติดตั้งตู้แดง​ช่วยตรวจตรา​ การใช้ระบบแจ้งเตือนผู้บุกรุก​ เป็น​ต้น​ มาปรับ​ใช้​ให้เหมาะสม​ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องเพื่อนครู ตลอดจน​ลดภารกิจที่ไม่จำเป็นตามนโยบายลดภาระครู ให้ครูทั้่งประเทศได้มีเวลาในการจัดเตรียมการเรียนการสอนอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึง​เป็น​ไปตามมติ​ ครม.และประกาศ​ของ​ ศ​ธ.​ด้วย

“ตอนนี้ต้องขอบคุณโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตาม ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยคืนความสุขให้กับครู คืนเวลาสอนในชั้นเรียน ครูก็จะลดภาระลงได้ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย​ได้มีการสอบความความเห็น​ครูหลังจากประกาศ​ยกเลิก​ไม่ต้องมาอยู่เวร​ พบว่าครูทุกท่านต่างเห็นด้วยและมีความสุข​กับนโยบาย​นี้ รมว.ศธ.​จึงฝากกำชับว่าทุกโรงเรียนต้องดำเนินการและปฏิบัติตาม มติ ครม. และประกาศของ ศธ. อย่างเคร่งครัด หากพบข้อมูลว่าสถานศึกษาใดยังไม่ปฏิบัติตามสามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ที่ศูนย์บริการประชาชน สายด่วน 1579 ตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้เชื่อมั่นว่ากระทรวงศึกษาธิการพร้อมและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทุกแนวทางเพื่อลดภาระครู คืนครูให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่ปลอดภัย” โฆษก ศธ. กล่าว

ทั้งนี้ ศธ.ได้ตั้งเรื่องเสนอของบประมาณปี 2567 เพื่อจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ยังขาดอยู่ โดยสามารถเริ่มจ้างได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ในงบประมาณปี 2568 ยังจะมีการดำเนินการจ้างเพิ่มอีก รวมเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท และจะดำเนินการของบประมาณในปีต่อ ๆ ไปด้วย