คปภ. งัด 8 มาตรการช่วยเหลือ“คุณยาย”ที่จังหวัดสงขลา ถูกหลอกถอนเงินจากบริษัทประกัน 1.4 ล้านบาท • สั่งเรียกสอบตัวแทนประกันชีวิตด่วน หากผิดจริงโดนเพิกถอนใบอนุญาตทันที
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นางฟื้น กาญจนมณี อายุ 88 ปี หรือคุณยายฟื้น ชาวบ้านในตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ให้ดำเนินคดีกับลูกชายในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ด้วยการหลอกให้ไปเปิดบัญชีและถอนเงินจนหมดบัญชี จำนวน 1.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่นางฟื้นได้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวน 3 กรมธรรม์ ซึ่งลูกสาวที่เสียชีวิตได้ทำไว้ โดยปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ นั้น
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทประกันภัยและการออกใบอนุญาตให้กับคนกลางประกันภัย ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเห็นว่าเรื่องนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย จึงได้เรียกสายงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยแบ่งมาตรการดำเนินการเป็นมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาวรวม 8 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วน 6 มาตรการ ได้แก่
มาตรการแรก สั่งการสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยให้ผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและครอบครัว ตลอดจนหาเบาะแสและพฤติกรรมต่างๆ จากตัวแทนประกันชีวิตในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงลึกต่อการดำเนินการกับตัวแทนประกันชีวิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รวมทั้งประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างใกล้ชิด อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
มาตรการที่ 2 ได้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็ว ประกอบด้วย บุคลากรจากสายกฎหมายและคดี สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. ภาค 9 และสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
มาตรการที่ 3 ให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย ทำการตรวจสอบรายชื่อตัวแทนประกันชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จำนวน 3 ราย ซึ่งขณะนี้ทราบชื่อและบริษัทต้นสังกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้รับแจ้งจากบริษัทต้นสังกัดว่าได้มีการสั่งพักงานชั่วคราวตัวแทนประกันชีวิตทั้ง 3 รายแล้ว
มาตรการที่ 4 ออกหนังสือเชิญบริษัทประกันชีวิตต้นสังกัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ในวันที่ 15 สิงหาคม 2562
มาตรการที่ 5 ออกหนังสือเชิญ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน มาหารือเพื่อร่วมกันหามาตรการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อฉลประกันภัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนประกันชีวิต
มาตรการที่ 6 สั่งการให้สายกฎหมายและคดี ออกหนังสือเชิญตัวแทนประกันชีวิตทั้ง 3 ราย มาสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เพื่อเร่งตรวจสอบ หากพบว่าตัวแทนประกันชีวิตกระทำผิดจริงให้ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทันที ตลอดจนดำเนินการทางกฎหมายในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนมาตรการระยะยาวมี 2 มาตรการ มาตรการแรก ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน อันกระทบต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัย โดยมีรองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นประธานฯ โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สายตรวจสอบ คนกลางประกันภัย และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นคณะทำงานโดยเฉพาะ มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากเกิดเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย อันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในธุรกิจประกันภัย เพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ส่วนมาตรการระยะยาวอีกมาตรการ คือ การป้องปรามพฤติกรรมการฉ้อฉลประกันภัย เช่น เข้มงวดบริษัทประกันชีวิตให้ดำเนินการสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ คปภ. ทั้ง 3 ฉบับ คือ ประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันชีวิต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉล พ.ศ.2561 โดยเฉพาะกระบวนการควบคุมความเสี่ยงการรับเงินจากตัวแทน/พนักงานขายของบริษัท และกระบวนการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ , ประกาศ คปภ. เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2561 และ ประกาศนายทะเบียนเรื่องการเก็บเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ ให้สำนักงาน คปภ. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางตรวจสอบใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต ผ่านทาง Application “รอบรู้ประกันภัย” ของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยขอเอกสารใบเสร็จรับเงินจากบริษัทประกันภัย หลังจากที่ได้มีการชำระค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว และให้สำนักงาน คปภ. เร่งพัฒนา Application สำหรับตัวแทน/นายหน้าประกันภัย เพื่อให้สามารถตรวจสอบประวัติการอบรม การต่ออายุใบอนุญาต ประวัติการถูกร้องเรียน รวมถึงการแจ้งเตือนการหมดอายุของใบอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลคนกลางประกันภัย
“เชื่อว่าทั้ง 8 มาตรการที่ทางสำนักงาน คปภ. Take action จะทำให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจเมื่อได้รับความเดือดร้อนด้านประกันภัยและจะช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดความเสียหาย อันจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัย หากมีเบาะแสหรือ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันภัย ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย