ก.แรงงาน ชวนแรงงานทดสอบรับค่าจ้างตามฝีมือ ด้านนายจ้างใช้เป็นเกณฑ์คัดบุคลากรเข้าทำงาน เลื่อนตำแหน่ง
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดนโยบายพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) เสริมสร้างการมีงานทำได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือ มุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนเชิงระบบ ด้วยการฝึกอบรม และทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงขานรับนโยบายด้วยการมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ เร่งเชิญชวนกำลังแรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ และประชาชนทั่วไป เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า เกณฑ์การทดสอบแบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ประเมินจากการปฏิบัติงานหลายด้าน เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอย่างประหยัด การใช้เครื่องมือเครื่องจักรอย่างถูกวิธี ปฏิบัติงานภายในเวลาที่กำหนด ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน สุดท้ายคือ ผลสำเร็จของงานมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะแรงงานได้วัดทักษะฝีมือ ได้รับค่าจ้างตามฝีมือ จะมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ด้านนายจ้างและสถานประกอบกิจการ ใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน เข้าปฏิบัติงานในองค์กร หรือเลื่อนตำแหน่งต่างๆ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
“ในปัจจุบันคณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 83 สาขา 6 สาขาอาชีพ ได้แก่ (1) สาขาอาชีพช่างเครื่องกล (2) สาขาอาชีพภาคบริการ (3) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ (4) สาขาอาชีพช่างอุตสาหการ (5) สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง (6) สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ และ 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2) กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (3) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (4) กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี (5) กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (6) กลุ่มอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ (7) กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (8) กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (9) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก (10) กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก (11) กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ (12) กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า ซึ่งนอกจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 77 แห่ง จะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว ยังได้อนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา จัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบฯ อีกจำนวนกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทดสอบ จึงเชิญชวนผู้สนใจและนายจ้างส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบ ดูรายละเอียดโปรแกรมการทดสอบฯ ได้ที่ www.dsd.go.th เลือก “กำหนดการเปิดทดสอบฝีมือแรงงาน” หรือโทรสอบถามได้ที่สำนักงานพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน 0-2245-4837, 0-2245-1707 ต่อ 718 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ต่อ 4” อธิบดี กพร. กล่าว