กรมวิทย์ฯ – จุฬาฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตโปรตีนไฟโบรอินไหมไทยปลอดเชื้อ ให้ภาคเอกชนนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีความร่วมมือกันในการพัฒนากระบวนการผลิตสารละลายไฟโบรอินไหม ปลอดเชื้อ จากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับการค้า เพื่อให้ได้วัตถุดิบของวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบฝังในที่ย่อยสลายได้ในร่างกายที่มีคุณภาพสูง ตามหลักเกณฑ์ของมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ กระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 : 2016

ซึ่งดำเนินการโดยนักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีประสบการณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ สำหรับใช้ในการวิจัยทางคลินิกมากว่า 10 ปี ณ ห้องปฏิบัติการผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีการดูแลตามข้อกำหนดสากล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น มีคุณภาพที่เหมาะสม ปราศจากเชื้อและสารเอนโด ท็อกซิน สามารถนำไปใช้ในการผลิตวัสดุทางการแพทย์ เภสัชกรรม และเครื่องสำอาง อาทิ อนุภาคกระดูกเทียม แผ่นไหมปิดแผลสมานเซลล์ผิวหนังให้แผลหายเร็ว ผิวหนังเทียม รวมถึงการพัฒนาระบบนำส่งยาที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยของยาหรือสารออกฤทธิ์ในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้ คือ เป็นโปรตีนธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นมิตรต่อร่างกาย สามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย มีความแข็งแรงคงตัว นับเป็นผลิตภัณฑ์แรก ที่มีการพัฒนาจากวัสดุธรรมชาติ คือ ไหมสายพันธุ์ไทย ที่สำคัญมีคุณภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายคล้ายกันทั่วโลก

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า จากความสำเร็จของความร่วมมือดังกล่าวนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีร่วมกัน จึงได้จัดให้มีการลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตโปรตีนไฟโบรอินไหมไทยปลอดเชื้อ ให้แก่ บริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด สามารถนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าให้กับไหมสายพันธุ์ไทย จากเดิมมูลค่าการส่งออกผ้าไหม ผลิตภัณฑ์ไหม และชิ้นส่วนต่างๆ ของไหม ประมาณ 360 ล้านบาทต่อปี หากนำรังไหมมาผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ไหมสายพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์

“นับเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันนวัตกรรมแสะงานวิจัยจากนักวิจัยไทยให้เกิดการใช้งานจริง ซึ่งเป็นไป ตามเป้าหมายที่สำคัญของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะผลักดันและสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เป็นปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย สร้างโอกาสให้กับ Start-up รวมทั้งเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนสินค้าการเกษตรเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย