“บรรจุภัณฑ์” มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยง ดึงดูด ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือสินค้า นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการช่วยเพิ่มมูลค่า (Adding value) และนำไปสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ที่มีต่อการประกอบธุรกิจและการพัฒนา.ผลิตภัณฑ์/สินค้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้จัดตั้ง ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) หรือ Thai Packaging Center (TPC) ขึ้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2527 ตามมติคณะรัฐมนตรี
ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของชาติด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลระดับนานาชาติ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพสินค้า ลดความสูญเสียของสินค้าจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป เพื่อยกระดับมาตรฐานการบรรจุหีบห่อของประเทศ
มุ่งให้คำปรึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยทำการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดและบ่มเพาะเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์และวัสดุบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีโครงสร้างที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้าน มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบรรจุภัณฑ์แบบแอคทีฟ (Active Packaging) บรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligent Packaging) บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เป็นต้น บริการวิจัยและพัฒนา บริการที่ปรึกษา บริการวิเคราะห์ทดสอบ บริการข้อมูลสารสนเทศ ให้บริการฝึกอบรมแก่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการและเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งมีการขยายขอบข่ายงานบริการให้ครอบคลุมวัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค โดยเปิดให้บริการวิเคราะห์ความปลอดภัยวัสดุสัมผัสอาหาร และการตรวจสอบการแพร่กระจาย (Migration) ของโลหะหนักและสารจำเพาะของวัสดุ PET ที่แปรกลับนำมาใช้ใหม่ (Recycled PET) สำหรับทำเป็นวัสดุสัมผัสอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 435 และ EU10/2011 แก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ
ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ ส่งเสริมและพัฒนารูปแบบและบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ในโครงการ โดยใช้หลักวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์/สินค้ามีบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปแบบสวยงามสะดุดตา รวมทั้งสร้างตราสินค้าและเอกลักษณ์เพื่อการจดจำและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ตลอดจนรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีการสำรวจสถานภาพปัจจุบันของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของตลาด รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ห้องปฏิบัติการ ดังนี้
- ห้องปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านการบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและเอกชน ในการการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์สำหรับพืชผลทางการเกษตร เพื่อลดความเสียหายของผักและผลไม้สด เพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อส่งเสริมการขายสินค้า OTOP การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์แอคทีฟและบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังบริการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องให้กับภาคเอกชนตลอดจนบริการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับประเภทของผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์และช่วยส่งเสริมด้านการตลาด ให้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้ง SMEs และวิสาหกิจชุมชน
- ห้องปฏิบัติการทดสอบบรรจุภัณฑ์ ที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001, ISO/IEC 17025 และ ISTA พร้อมให้บริการทดสอบวัสดุและบรรจุภัณฑ์ ครอบคลุมทั้งการทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีกและบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและวิธีการทดสอบตามมาตรฐานสากล เพื่อช่วยในการควบคุมคุณภาพ ลดความเสียหาย และลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานกลางของประเทศที่ให้บริการทดสอบบรรจุภัณฑ์สินค้าอันตราย ตลอดจนให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานการทดสอบวัสดุและบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการทั้ง SMEs และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบรรจุภัณฑ์ของชาติอย่างครบวงจร ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น การจัดสัมมนาและฝึกอบรมเฉพาะเรื่องด้านบรรจุภัณฑ์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจัดนิทรรศการด้านบรรจุภัณฑ์ การจัดทำเอกสารวิชาการและสื่อประชาสัมพันธ์ด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น คู่มือการใช้บรรจุภัณฑ์ รายงานวิชาการและวารสารการบรรจุภัณฑ์ (Online) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานบรรจุภัณฑ์ ให้เหมาะสม และเพิ่มความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจ ด้วยห้องบริการข้อมูลที่เพียบพร้อมด้วยเอกสารทางวิชาการ วารสาร แคตตาล็อก และฐานข้อมูลด้านบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนห้องแสดงผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยออกแบบให้กับผู้ประกอบการต่าง ๆ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ในปี 2566 วว. ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พัฒนารููปแบบโครงสร้างบรรจุุภัณฑ์และกราฟิก โดยนำเสนอแนวทางการพัฒนาบรรจุุภัณฑ์ 3 แนวทางต่อผลิตภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 10 ราย และถ่ายทอดความรู้ด้านบรรจุุภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการ จำนวน 133 ราย จากการฝึกอบรมพัฒนาและสร้างมููลค่าเพิ่่มผลิตภัณฑ์ด้วยบรรจุุภัณฑ์ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการบริการด้านบรรจุุภัณฑ์อย่างครบวงจร เพื่่อยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
จากบทบาทและบริบทการดำเนินงานของ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ในการเป็นหน่วยงานกลางของชาติด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน มากว่า 40 ปี นั้น ได้ให้คำปรึกษา วิจัย บริการและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ทั้งในแง่ของการปกป้องคุ้มครองคุณภาพและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่ผลิตภัณฑ์ประสบอยู่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อาหารและเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน สามารถนำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพร้อมสู่ตลาดการค้าโลกต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 0 2579 1121-30 ต่อ 3101, 3208 , 081 702 8377 โทรสาร 0 2579 7573 E-mail : TPC-tistr@tistr.or.th