สถาบันการบินพลเรือน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมและสถาบันการบินพลเรือน

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมและสถาบันการบินพลเรือน โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์  มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านอำนวยการ)  เป็นผู้ร่วมลงนาม พร้อมด้วย ดร.พันศักดิ์ เนินทราย ผู้อำนวยการกองวิชาบริการการจราจรทางอากาศ รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ ดร.วราภรณ์  เต็มแก้ว ผู้อำนวยการกองวิชาวิทยาการการบิน นายพัลลภ สังข์ศิลป์เลิศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย และนายปริยะ เวสสบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยาน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ด้วย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ

การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขสำหรับความร่วมมือทางวิชาการในการสนับสนุนภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของอากาศยานและสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยด้านการฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร การฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย การวิจัยและพัฒนางานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายสุทธิพงษ์  คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้แทนปลัดกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้  เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม  การลงนามบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขข้อบกพร่องของประเทศไทยที่ได้รับการตรวจสอบจาก ICAO ในด้านมาตรฐานการฝึกอบรมและฝึกซ้อม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีการพัฒนาแผนการฝึกอบรมและฝึกซ้อม ด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย (Rescue Coordination Centre : RCC) ของ สกชย. และด้านการจัดการความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบิน ของ สสอ. ให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่ ICAO และ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนด รวมถึงในอนาคตสามารถนำแผนการฝึกอบรมและฝึกซ้อมดังกล่าวมาขยายผลเป็นแผนฝึกอบรมและฝึกซ้อมสำหรับหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลือของประเทศไทยและเสริมสร้างการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบินทั่วทั้งระบบการบินของประเทศไทยได้ ตลอดจนเป็นการบูรณาการ สนับสนุน และยกระดับงานวิชาการด้านการบินระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ มีเนื้อหาสอดคล้องกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของทั้งสามหน่วยงานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรทางวิชาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และผู้ฝึกอบรมเกิดผลลัพธ์จากการเรียนรู้ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ (Skill) และ ด้านทัศนคติ (Attitude) ซึ่งต้องสอดคล้องกับสมรรถนะหลักขององค์กรและสมรรถนะอาชีพในตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ โดยทั้งสามฝ่ายจะบูรณาการการทำงานร่วมกันในการพัฒนาแผนการฝึกอบรมและฝึกซ้อม ด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย และด้านการจัดการความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการบินให้มีคุณสมบัติสอดคล้องตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติที่ ICAO และ กพท. กำหนดต่อไป