รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่ขอนแก่น ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง

รมช. เกษตรฯ ตรวจสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง สั่งการช่วยเหลือพื้นที่ประกาศเขตภัยพิบัติในจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิด่วน

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง โดยจังหวัดขอนแก่นได้ประกาศเขตภัยพิบัติแล้งแล้วถึง 24 อำเภอจากทั้งหมด 26 อำเภอ โดยจุดแรกได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนประชาชนอำเภอชุมแพ อำเภออุบลรัตน์ และอำเภอซำสูง พร้อมกล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดตอนนี้คือ การจัดหาแหล่งน้ำเสริมและการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าว บูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ทั้งหมด 6,803,744 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 4,873,125 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 195,771 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่งคือ เขื่อนอุบลรัตน์ ความจุเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (9 ส.ค.62) มีปริมาณน้ำ 541 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุเก็บกัก อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ความจุรวม 106 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 29 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีน้ำใช้การได้เพียง 13 ล้าน ลบ.ม. อ่างขนากกลางที่มีความจุน้อยกว่าร้อยละ 30 มี 10 แห่ง ส่วนสถานการณ์น้ำท่าแม่น้ำชีตอนบนและแม่น้ำชีตอนกลางอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สำหรับแม่น้ำชีตอนล่างอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพราะน้ำค่อนข้างน้อย ซึ่งสาเหตุที่อ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางมีน้ำน้อย เนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นมีฝนตกสะสม (1 ม.ค.- 9 ส.ค. 62) วัดได้เพียง 507.8 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 59

ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพน้ำในลำน้ำชีตื้นเขินด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคามและเขื่อนร้อยเอ็ด เพื่อให้สถานีสูบน้ำของการประปาที่อยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชีนำน้ำไปใช้ผลิตน้ำประปา แบะเพื่อการอุปโภค-บริโภค ตลอดจนยังเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ อีกทั้งได้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ พร้อมกับส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือ และลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการปลูกข้าวออกไป ส่งผลให้ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีดีขึ้น ในปัจจุบันจึงได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวลงลำน้ำชี เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้งหน้า ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการประปาและจะมีน้ำเพียงพอตลอดถึงฤดูแล้ง 2562/63

สำหรับการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้ส่งน้ำหน้าฝายหนองหวายกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. ไปช่วยนาข้าวในอำเภอน้ำพองกว่า 160,000 ไร่ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือนาข้าว 4,200 ไร่ ที่ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้พทุ่งพังพืด เข้าสู่บ่อพักน้ำดิบ สำหรับผลิตประปาช่วยเหลือราษฎร ตำบลหัวทุ่ง อำเภอพล จำนวน 430 ครัวเรือน นอกจากนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ยังได้เพิ่มน้ำเหนือเขื่อนมหาสารคาม เพื่อให้สถานีผลิตน้ำประปาท่าพระ (หนองบัวดีหมี) ตำเบลท่าพระ อำเภอเมืองมีน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาด้วย