รมช.เกษตรและสหกรณ์ประชุมมอบนโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 12,858 แห่ง สมาชิกรวมกว่า 12.117 ล้านครอบครัว แต่ละปีสหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ปริมาณ ไม่น้อยกว่า 5.530 ล้านตัน/ปี และสหกรณ์อีกจำนวน 718 แห่ง ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการพืชผลการเกษตรและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ปริมาณไม่น้อยกว่า 1.103 ล้านตัน/ปี
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาประชุมเพื่อมอบนโยบายการพัฒนาระบบสหกรณ์และการขับงเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกรมฯ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เบื้องต้นทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำเสนอถึงภารกิจและหน้าที่ในการดำเนินงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งต้องดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 12,858 แห่ง สมาชิกรวม 12.117 ล้านครอบครัว ทุนดำเนินงานรวม 3.13 ล้านล้านบาท ปริมาณธุรกิจรวม 2.52 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนจำนวนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ แบ่งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร 4,547 แห่ง สมาชิก 6.677 ล้านคน สหกรณ์นอกภาคการเกษตร 3,550 แห่ง สมาชิก 4.958 ล้านคน และกลุ่มเกษตรกร 4,761 แห่งสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 0.481 ล้านคน
กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นพัฒนาการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับสมาชิก โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคการเกษตร ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต เริ่มจากการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับนำไปลงทุนประกอบอาชีพทำการเกษตร การส่งเสริมการผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพ การดูแลบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร การจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุน การรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาสู่กระบวนการแปรรูปหรือปรับปรุงคุณภาพ และการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอนและสามารถกำหนดราคาขายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีสหกรณ์การเกษตร 1,573 แห่ง ดำเนินธุรกิจรวบรวมและรับซื้อผลผลิตการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและผลไม้ ปริมาณไม่น้อยกว่า 5.530 ล้านตัน/ปี และสหกรณ์อีกจำนวน 718 แห่ง ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการพืชผลการเกษตรและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ปริมาณไม่น้อยกว่า 1.103 ล้านตัน/ปี
สำหรับในปีงบประมาณ 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นการพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ โดยส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรมีบทบาทในการสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากในแต่ละอำเภอจะมีประชากรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรไม่น้อยกว่า 40-50 % ดังนั้น สหกรณ์จะต้องปรับบทบาทในการดำเนินงาน มุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้น จะมีการพัฒนาการผลิตพืชผลการเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร 10 ชนิด จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าของสหกรณ์เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการเพิ่มศักยภาพสหกรณ์ในการรวบรวมและเก็บชะลอสินค้าเกษตร เพื่อดึงปริมาณผลผลิตการเกษตรที่สำคัญเข้าสู่กระบวนการแปรรูป เพิ่มมูลค่าก่อนส่งจำหน่ายสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้สินค้าไม่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก และป้องกันปัญหาการกระจุกตัวของสินค้า เพื่อใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าการเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยขอให้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรให้มากขึ้น และชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ และส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของเกษตรกรอย่างไร นอกจากนี้ ให้เร่งแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ไม่ให้มีหนี้สินพอกพูน ซึ่งจะต้องไปดูเรื่องของการประกอบอาชีพและรายได้ ที่เพียงพอหรือไม่ ต้องเน้นการสร้างอาชีพ สำหรับการผลิตสินค้าการเกษตร สหกรณ์ต้องเข้าไปส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตการเกษตร และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกับเกษตรกรด้วย เนื่องจากสหกรณ์นั้นมีความสำคัญและเป็นกลไกที่ช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
“สหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังและยางพาราโดยเฉพาะยางพารา สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำยางดิบจากสมาชิกนำมาผลิตเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่น และยางแท่งได้ บางส่วนได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น หมอน ที่นอน แผ่นรองปูพื้นสนาม ถุงมือและรองเท้า ดังนั้น จะสนับสนุนให้สหกรณ์รับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรแล้วนำมาแปรรูปตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมต้องการนำผลิตภัณฑ์ยางพารามาแปรรูปเป็นกรวยยาง แท่งแบริเออ และอุปกรณ์ความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะมีการหารือกับกระทรวงคมนาคม ขอให้สหกรณ์เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้และขอให้กระทรวงคมนาคมประสานและสั่งซื้อจากสหกรณ์โดยตรง เบื้องต้นทราบว่า มีสหกรณ์ทางภาคใต้ เช่น สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จังหวัดสงขลาและชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด จังหวัดสตูล มีศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราได้หลากหลายชนิด ที่พร้อมสำหรับการผลิตเป็นกรวยและแท่งแบริเออได้ตามที่กระทรวงคมนาคมต้องการ นอกจากนี้ยังได้วางแผนลงไปตรวจเยี่ยมการก่อสร้างโรงงานรวบรวมน้ำยางของสหกรณ์สวนยางในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เร่งดำเนินการได้ทันรองรับปริมาณผลผลิตยางพาราจากเกษตรกรในพื้นที่โดยเร็วที่สุด” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว