นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน Soft Power ด้านเฟสติวัลและด้านท่องเที่ยวรองรับนโยบาย Thailand Creative Content Agency (THACCA) และกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มีนโยบาย Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลกของวธ. ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)ได้ผลักดันให้ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่หนังสือพิมพ์ Times of India สื่อเจ้าใหญ่ของอินเดียเผยแพร่บทความ “เทศกาลวัฒนธรรมทั่วโลกที่ควรค่าแก่การไปเยือน (Cultural Events Around the World Worth Travelling For)” ทางเว็บไซต์ https://timesofindia.indiatimes.com/travel/web-stories/cultural-events-around-the-world-worth-travelling-for/photostory/107758195.cms โดยยกย่อง 9 เทศกาลวัฒนธรรมในประเทศต่าง ๆ ที่มอบประสบการณ์แสนพิเศษให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึง เชื่อมต่อ และสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนจากต่างวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลก สร้างความทรงจำที่ล้ำค่า และเปิดโอกาสให้ผู้ไปเยือนได้ซึ้งกับความสวยงามของวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วย 1. เทศกาลสงกรานต์ ประเทศไทย 2. เทศกาลโฮลี (Holi) ประเทศอินเดีย 3. เทศกาลออคโทเบอร์เฟสต์ (Oktoberfest) ประเทศเยอรมนี 4. เทศกาลมาดิกราส์ (Mardi Gras) รัฐนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา 5. เทศกาลวันแห่งคนตาย (Day of the Dead) ประเทศเม็กซิโก 6. เทศกาลกิอง (Gion Matsuri) ประเทศญี่ปุ่น 7. เทศกาลวิ่งวัวกระทิง (Running of the Bulls, San Fermin Festival) ประเทศสเปน 8. เทศกาลโคมไฟ (Lantern Festival) ไต้หวัน และ9. เทศกาลชมซากุระ (Cherry Blossom Festival) ประเทศญี่ปุ่น
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า บทความของหนังสือพิมพ์ Times of India ได้ยกให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่แบบดั้งเดิมของไทย เป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานที่ผู้คนสามารถเล่นสาดน้ำกันบนถนนและสังสรรค์กันในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ และยกย่องให้เป็นเทศกาลระดับโลกที่ควรค่าแก่การตีตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางไปเข้าร่วมสักครั้งในชีวิต เทียบเคียงได้กับเทศกาลโฮลีของอินเดีย ออคโทเบอร์เฟสต์ของเยอรมนี เทศกาลกิองของญี่ปุ่น ฯลฯ สำหรับประเทศไทย จะจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ในช่วงเดือนเมษายน 2567 ทั้งในกรุงเทพฯ และทุกภูมิภาคในประเทศไทย จึงขอเชิญชวนคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกร่วมงานดังกล่าวเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทย