สธ.เผยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอัตราการเสียชีวิตลดลง เหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานเครือข่ายบริการสุขภาพด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ครอบคลุมทุกเขตบริการสุขภาพทั้ง 13 เขต สำหรับโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 ซึ่งโครงการนี้เน้นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เพื่อให้ประชาชน  ได้เข้าถึงบริการที่ได้มาตรฐานและมีผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเครือข่ายบริการไร้รอยต่อ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจอย่างรวดเร็ว มีศูนย์โรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาค  ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10

วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการและสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการ แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชน รวม 600 คน

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจเพื่อตอบสนองนโยบายในการลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ จึงเร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจ และได้มีการจัดทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases)” มีโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เฉียบพลันรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้ การป้องกันผลแทรกซ้อนโดยเน้นการรักษาที่รวดเร็วโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดและหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิต โครงการนี้มีส่วนในการกระตุ้นและติดตามการทำงานของเครือข่ายเพื่อตอบสนองนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ Service Plan สาขาโรคหัวใจ ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่ตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มและเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านบริการเป็นเลิศ(Service Excellent) ของกระทรวงสาธารณสุข

ผลการดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม 2561 – 30 มิถุนายน 2562 จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 608 แห่ง โรงพยาบาลที่มีห้องสวนหัวใจได้ 43 แห่ง โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 41 แห่ง มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 15,737 ราย ข้อมูลที่สมบูรณ์ 11,480  ราย เป็นผู้ป่วยประเภท STEMI 4,091 ราย, NSTEMI 5,277 ราย Unstable Angina 1,052ราย ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายในระยะเวลาที่กำหนดร้อยละ  49.09 และทำ PPCI ภายในเวลาที่กำหนดร้อยละ 47.56 อัตราตาย STEMI ร้อยละ 5.41, NSTEMI ร้อยละ 4.04 ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีการส่งต่ออย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางขึ้นไปสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลที่มีศูนย์หัวใจทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลลดลงน้อยกว่าร้อยละ 10

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า สถาบันโรคทรวงอก ได้ดำเนินโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 จัดอบรมวิชาการสัญจรทั่วทุกภูมิภาค 13 เขตบริการสุขภาพรวม 8 ครั้ง มีผู้เข้าอบรมรวมจำนวน 1,492 ราย สาธิตและแสดงวิธีการทำหัตถการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ จัดทำคู่มือมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว คู่มือการอ่าน EKG แผนภูมิการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดเฉียบพลันรุนแรง และแผนภูมิการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว  มีการบริหารจัดการข้อมูลโรคหัวใจในภาพรวมของประเทศด้วยโปรแกรม Thai ACS Registry แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านโรคหัวใจที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์  ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความร่วมมือทางวิชาการและบริการ ทางการแพทย์ ตรงตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของกรมการแพทย์