วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 – 15.30 น. ณ ห้องประชุม 10 – 09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดกิจกรรมครบ 1 ปี กับกฎหมายการต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย : หนทางสู่ความยุติธรรม (One year with Anti-TorTure and Enforced Disappearance Law : A Journey to Justice) โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ
นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย คณะอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม วิทยากร ผู้บริหารกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 200 คน เข้าร่วม
การจัดงานในวันนี้ สืบเนื่องมาจากการที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายขึ้น จนกระทั่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
โดยกิจกรรมในวันนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
– ช่วงเช้า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “การประชาคมโลกกับกฎหมายต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย” โดย ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
– ช่วงบ่าย จะเป็นการเล่าถึงบทบาทของหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงาน ความท้าทาย และทิศทางในอนาคต เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น ความคาดหวังของทุกภาคส่วนต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ เพื่อนำไปกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติฯ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
- การจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน ๒ คณะ ได้แก่
1.1) คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
1.2) คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย - การจัดทำระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้แก่
2.1) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและ ควบคุม การแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2566
2.2) ร่างระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. …. ปัจจุบันยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ในอนาคตจะจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่และค่าใช้จ่ายอื่นต่อไป - การรับเรื่อง ติดตามตรวจสอบ และดำเนินคดีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฯ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมมือกันรับเรื่องร้องเรียน แสวงหาข้อเท็จจริงกันอย่างจริงจัง จนกระทั่งปัจจุบัน อัยการสั่งฟ้องเป็นคดีแล้วจำนวน 1 คดี เป็นกรณีกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- การติดตามการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ปัจจุบันได้รับแจ้งการเสียชีวิต ระหว่างควบคุมตัวจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงกลาโหม รวมทั้งสิ้น จำนวน 308 กรณี โดยส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตทั่วไป
- การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้เข้าพบหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ รวมทั้ง ได้เผยแพร่หลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ รวมทั้ง จัดฝึกอบรมและเป็นวิทยากรแก่หน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เน้นย้ำหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ คือ “การห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทรมาน กระทำการที่โหดร้ายฯ และอุ้มหายในทุกกรณี” มีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการจัดทำกฎหมาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน กระทำที่โหดร้าย และการอุ้มหายนั้น เป็นหนึ่งในคำมั่นที่รัฐบาลไทยได้ให้ไว้ทั้งในเวทีระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รวมทั้ง เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ระบุไว้ภายใต้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากการทรมานการ กระทำที่โหดร้าย และการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในรูปแบบหรือสถานการณ์ใด ๆ อีกทั้งการกระทำดังกล่าว ยังส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อตัวผู้เสียหาย ครอบครัว สังคม และกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนความโปร่งใสในการดำเนินคดี และยืนยันความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ตามกฎหมายต่อไป