“วราวุธ” เผย พม. จับมือ ภาครัฐ – เอกชน ปั้นหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ผู้สูงอายุรู้ทันมิจฉาชีพ พร้อมดึงออมสินช่วยแก้หนี้ ขรก.พม.

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อให้ความรู้กับผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน มีผู้สูงอายุเกือบ 13 ล้านคน และทุกท่านล้วนมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เข้ามาหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน รวมถึงการส่งข้อความ เช่น ถูกหลอกลวงให้คืนเงิน ชวนลงทุน ดังนั้น โครงการนี้ จะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และให้มีความเข้าใจและปกป้องข้อมูลของตัวเอง

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 13 ล้านคน และมีผู้สูงอายุที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านสื่อมากถึงร้อยละ 22.40 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคน โดยพบว่า ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 2,300 ล้านบาท ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 12.96 ถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท และผู้สูงอายุร้อยละ 11.07 ถูกหลอกให้กู้เงิน คิดเป็นเกือบ 1,900 พันล้านบาท อีกทั้งผู้สูงอายุร้อยละ 8.33 ถูกหลอกให้ลงทุนแล้วได้เงินตอบแทน ประมาณ 17,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่ทางโทรศัพท์ เช่น ถูกดำเนินคดี หากไม่รีบแก้ไขแล้วจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 6,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.08 ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว มูลค่าความเสียหายที่ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ฉะนั้นโครงการอุ่นใจไซเบอร์ จึงมุ่งไปที่ผู้สูงอายุทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เป็นการปกป้องทรัพย์สินของประชาชน

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2567 ) กระทรวง พม. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU กับธนาคารออมสิน ในการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนตัวของข้าราชการของกระทรวง พม. ในเบื้องต้น มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. เข้ามาร่วมโครงการกว่า 3,000 คน ที่จำนวนหนี้สินที่จะปรับปรุงอยู่ที่ประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ทั้งหมดนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินเงินสด รวมถึงหนี้สินของที่พักอาศัย สินเชื่อรถยนต์ และหนี้สินต่างๆ ซึ่งต้องขอเรียนว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ตนเองได้เข้ามาทำงาน และเข้ามาดูการทำงานของเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. เห็นว่ามีภารกิจต้องแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ปัญหาปากท้องต่าง ๆ มากมาย คำถามคือว่า เมื่อข้าราชการกระทรวง พม. ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว ใครจะเป็นคนดูแลข้าราชการกระทรวง พม. จึงทำให้เกิดแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินโดยใช้เวลาประมาณสามถึงสี่เดือน ซึ่งต้องขอขอบคุณธนาคารออมสินที่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบัตรเครดิต การเจรจาในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ การผ่อนชำระหนี้สินต่าง ๆ ของเพื่อนข้าราชการลงไปได้มากกว่าครึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการกระทรวง พม. เพราะว่าการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้กับคนอื่นได้นั้น ต้องแก้ปัญหาของตัวเองให้ได้เสียก่อน เป็นแนวทางที่อยากจะเข้ามาเพิ่มศักยภาพการทำงาน เพราะว่าเราอยากให้ขวัญกำลังใจกับเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. เพื่อที่จะทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #แก้หนี้ #ธนาคารออมสิน #อุ่นใจไซเบอร์ #ผู้สูงอายุ #ป้องกันมิจฉาชีพ