แพทย์แผนไทยเผยสรรพคุณดอกมะลิ บำรุงหัวใจ แก้กระหายน้ำ พร้อมเผย ยาหอมเทพจิตร แก้วิงเวียน หน้ามืด แก่คุณแม่ได้ผลดี
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม หลาย ๆ คนจะนึกถึงดอกมะลิ ที่มีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม คนโบราณนิยมปลูกไว้ในบ้าน เพื่อให้ส่งกลิ่นหอมร่มเย็น ส่งผลให้เกิดความสุขสดชื่นแก่คนในครอบครัว จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกมะลิ กลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ที่ลูก ๆ ใช้แสดงถึงความรัก ความกตัญญูต่อคุณแม่ ดอกมะลิ มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่า มีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ไตรเทอร์ปีนอยด์ และน้ำมัน หอมระเหย มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบประสาท ทำให้สดชื่น ผ่อนคลาย ตามตำราการแพทย์แผนไทย ดอกมะลิ มีรสขมหอมเย็น มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ บำรุงหัวใจ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลาย ซึ่งรสขมของสมุนไพร จะมีสรรพคุณทางยาช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย ส่วนรสหอมเย็น จะช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี จึงเห็นได้ว่าคนรุ่นหลัง มีการนำดอกไม้ ชนิดต่าง ๆ มาปรุงเป็นน้ำกระสายยาเพื่อเสริมฤทธิ์ยา แก้อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยดอกมะลิมักจะนำมาใช้เป็นน้ำกระสายยาเพื่อแก้ไข้
นอกจากนี้ ดอกมะลิ เป็นส่วนประกอบในตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติหลายตำรับ โดยเฉพาะ ยาหอมเทพจิตร มีดอกมะลิเป็นส่วนประกอบหลักในตำรับกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ยาหอมเทพจิตร มีสรรพคุณ แก้ลมกองละเอียด เช่น อาการหน้ามืด ตาลายตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน และช่วยให้ผ่อนคลาย ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายในน้ำอุ่น 100 มล. รับประทาน เมื่อมีอาการทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม รับประทาน เมื่อมีอาการทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง แต่การรับประทานยาหอมให้ได้สรรพคุณที่ดี ต้องละลาย ในน้ำอุ่น เพราะนอกจากจะได้สรรพคุณของตัวยาแล้ว การละลายในน้ำอุ่นจะทำให้ได้รับกลิ่นของน้ำมัน หอมระเหย จะช่วยปรับอารมณ์ให้เกิดความรู้สึกที่ผ่อนคลายด้วย สำหรับข้อควรระวัง ระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ระวังการใช้ยาในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต ก็ควรระวังในการใช้เช่นกัน
หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งที่มีการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย หรือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร 0 2149 5678
วันที่ 9 สิงหาคม 2562