วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม อาคารกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 45 (WorldSkills Kazan 2019) ระหว่างวันที่ 22- 27 สิงหาคม 2562 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย จำนวน 25 คน ใน 5 กลุ่มสาขาอาชีพ รวม 23 สาขา
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการแถลงข่าวว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 45 (WorldSkills Kazan 2019) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 สิงหาคม 2562 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 25 คน 23 สาขา ใน 5 กลุ่มสาขาอาชีพ ดังนี้ 1.กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต (9 สาขา) ได้แก่ สาขาเมคคาทรอนิกส์ สาขาเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด) สาขาโพลีเมคคานิกส์และระบบอัตโนมัติ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ สาขาออกแบบโมเดล สาขาสร้างและประกอบแม่พิมพ์ 2. กลุ่มสาขาอาชีพแฟชั่นและครีเอทีฟ (3 สาขา) สาขาจัดดอกไม้ สาขาแฟชั่นเทคโนโลยี สาขากราฟิกดีไซน์ 3. กลุ่มสาขาอาชีพขนส่งและโลจิสติกส์ (2 สาขา) สาขาเทคโนโลยียานยนต์ สาขาสีรถยนต์ 4. กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร (5 สาขา) สาขาปูกระเบื้อง สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร สาขาก่ออิฐ สาขาไม้เครื่องเรือน สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น 5. กลุ่มสาขาอาชีพบริการส่วนบุคคลและสังคม (4 สาขา) สาขาแต่งผม สาขาประกอบอาหาร สาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม สาขาเสริมความงาม เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในการยกระดับแรงงานคุณภาพ (Super Worker) เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เยาวชนและช่างฝีมือได้ยกระดับฝีมือให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในอีกทางหนึ่ง
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล กล่าวต่อไปว่า ในการแข่งขันนั้น แต่ละประเทศจะส่งเยาวชนเข้าแข่งขันได้ไม่เกินสาขาละ 1 คน หรือ 1 ทีม ใช้แบบแข่งขัน (Test Project) ที่จัดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศสมาชิก เนื้อหาของแบบทดสอบจะสะท้อนถึงเทคโนโลยีล่าสุด ตามความต้องการทักษะแรงงานของตลาดโลก รัฐบาลไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536 อนุมัติให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนาชาติ สำหรับในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมในแต่ละสาขา อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาลัยดุสิตธานี บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียร์ริ่ง แอนด์ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด บริษัท บุญถาวร โซลูชั่น จำกัด บริษัท เฟสโต้ จำกัด และบริษัท เมซ แมคคานิซึ่ม ดีไซน์ จำกัด เป็นต้น เยาวชนได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทดสอบฝีมือภายใต้สถานการณ์เสมือนจริง เตรียมความพร้อมด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณีของสหพันธรัฐรัสเซีย จึงเชื่อว่าเยาวชนจะทำผลงานได้ดี สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ มีโอกาสอย่างยิ่งจะคว้าเหรียญรางวัลมาฝากพี่น้องชาวไทย สำหรับเงินรางวัลที่เยาวชนจะได้รับจากการคว้าเหรียญรางวัล ดังนี้ เหรียญทองละ 372,500 บาท เหรียญเงินละ 248,500 บาท เหรียญทองแดงละ 124,000 บาท รางวัลชมเชยละ 51,000 บาท รางวัลปลอบใจละ 10,000 บาท
“การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ กำหนดให้จัดการแข่งขันขึ้นทุก 2 ปี จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2493 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ในการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานของเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกที่เป็นสมาชิก ในปัจจุบันมีสมาชิก 81 ประเทศ ไทยเป็นสมาชิกเมื่อปี 2536 ส่วนการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติในครั้งนี้ มีเยาวชนเข้าร่วมแข่งขัน 1,362 คน จาก 68 ประเทศทั่วโลก มีการแข่งขัน 56 สาขา ซึ่งเยาวชนไทยที่เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในครั้งนี้ผ่านเวทีในระดับอาเซียนเช่นกัน จึงขอกำลังใจจากพี่น้องชาวไทยรวมเชียร์และส่งกำลังใจให้เยาวชนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาฝากประชาชนชาวไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย