วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และชมรมอาสาสมัครคุมประพฤติจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) นางเทียบจุฑา ขาวขำ นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร นายกรวีร์ สาราคำ นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติเขต 4 หัวหน้าส่วนราชการ และอาสาสมัครคุมประพฤติ จำนวนกว่า 300 คน ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันความรับผิดชอบของกรมคุมประพฤติต้องดูแลผู้กระทำผิดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังมีคำพิพากษามากที่สุดกว่า 400,000 ราย โดยเฉพาะคดียาเสพติด ซึ่งบุคคลเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นกำลังของชาติ สิ่งที่เรามักจะกล่าวถึงกรมคุมประพฤติหรือกรมราชทัณฑ์ว่า เป็นดินแดนต้องห้าม และบุคคลต้องคำสาป ต้องคำสาปจากการเลือกปฏิบัติ การด้อยค่า ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม สิ่งต่างๆ ยังปรากฏให้เห็นอยู่ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษควรเดินมาถึงแล้ว กรมคุมประพฤติจะเป็นดินแดนสวรรค์ที่จะทำให้บุคคลต้องคำสาปเป็นบุคคลที่มีศักยภาพ
“ตามกฎหมายพ.ร.บ.คุมประพฤติฯ ได้บัญญัติให้อาสาสมัครคุมประพฤติและภาคประชาชนมีบทบาทในการดูแลแก้ไขผู้กระทำผิดในชุมชน และได้รับค่าตอบแทน ถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนเรื่องค่าตอบแทน เพราะงานคุมประพฤติ เป็นเรื่องที่ยากมาก ยากอะไรก็ไม่ยากเท่าปฏิสังขรณ์ การสร้างบ้านง่ายกว่าการซ่อมบ้าน อาสาสมัครคุมประพฤติต้องเป็นผู้นำและมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงคนที่ก้าวพลาดให้กลับตนเป็นคนดี ท่านต้องทำงานปฏิสังขรณ์ ถ้าท่านสามารถเปลี่ยนคนกลุ่มนี้ จากคนที่เป็นคนมือล่าง ให้เขาลุกขึ้นมาเป็นมือบนที่หาอาชีพ หางานทำ ดูแลครอบครัว ตนถือว่าเราทำบุญให้กับประเทศชาติ” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริมอีกว่า พวกท่านเข้ามาด้วยการศรัทธาต่อคุมประพฤติ ด้วยการศรัทธาต่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการศรัทธาต่อการสร้างประโยชน์ให้สังคม จึงสมัครเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติ ซึ่งไม่มีเงินเดือน ผมขอชื่นชม การได้พบท่านในวันนี้ ผมถือว่าได้พบกับผู้ทรงเกียรติที่แท้จริง เป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ท่านต้องภูมิใจ ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถือว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน ท่านมีผมเป็นพี่น้อง อย่างน้อยท่านจะไม่ถูกรังแก แต่ครอบครัวเราจะต้องทำครอบครัวของประเทศให้เข้มแข็ง ดินแดนคนต้องห้าม ต้องเปลี่ยนเป็นดินแดนสวรรค์ บุคคลต้องคำสาปต้องเป็นบุคคลที่มีโอกาสมีศักยภาพ เราต้องเปลี่ยนเอาเขากลับมาจากยาเสพติด ซึ่งคนเราต้องมี 5 อ. อ.ที่ 1 ต้องมีอาหารกิน ไม่ยากจน อ.ที่ 2 คือ มีอาชีพ อ.ที่ 3 ต้องมีอนามัย อนามัยถูกทำลายด้วยยาเสพติด อ.ที่ 4 ต้องมีโอกาสเท่ากัน อ.ที่ 5 ต้องมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม แต่อ.ที่มีไม่ได้คือ ความอยุติธรรม
ทางด้าน นายเรืองศักดิ์ สุวารี กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ มีอาสาสมัครคุมประพฤติที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั้งหมด 20,195 คนทั่วประเทศ และวางแผนเพิ่มจำนวนอาสาสมัครคุมประพฤติให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงพื้นที่