กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2568 – 2577) จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนานาชาติ พร้อมจ่อชงเข้า ครม.พิจารณาต่อไป
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการในองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ฉบับปรับปรุง โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับหมอบหมายเป็นประธาน กรม สบส. จึงได้จัดประชุมประชาพิจารณ์ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2568 – 2577) และทบทวนยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำกรอบและทิศทางการบริหารขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมุ่งเน้นกลไกใน 4 ผลผลิตหลัก คือ 1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2.ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล(Medical Service Hub) 3.ศูนย์กลางบริการวิชาการทางการแพทย์ (Academic Hub) และ4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) เป้าหมายเพื่อพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสุขภาพของโลก
นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เป็นการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 150 คน เพื่อทบทวนและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์นโยบาย Medical Hub พ.ศ.2568-2577 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2.การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร และ3.ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ และหลังจากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ กรม สบส.จะเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ(นโยบาย Medical Hub) ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับหมอบหมายเป็นประธาน และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป