DITP เตรียมหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน จากยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเกษตรแห่งชาติของคาซัคสถาน

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า รัฐบาลสาธารณรัฐคาซัคสถาน ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเกษตรแห่งชาติ“Agro-Industrial Complex of the Republic of Kazakhstan for 2017–2021” โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเกษตรของภูมิภาค และตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน อีกอย่างน้อย 2.5-เท่า-ภายใน 5 ปี ในภาคการผลิตต่างๆ อาทิ ฟาร์มผลิตเนื้อวัว ฟาร์มนม อุตสาหกรรมสัตว์ปีก และการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้ เป็นต้น พร้อมทั้งประกาศให้นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรม (Agro-Industrial Sector) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 2050 โดยตั้งเป้าหมายให้สาธารณรัฐคาซัคสถานติด 1 ใน 30 อันดับแรกของโลกของประเทศที่มีการพัฒนาในเรื่องนวัตกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐคาซัคสถานยังคงดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกและมีทิศทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นความเชื่อมโยง (connectivity) กับภูมิภาคต่างๆ โดยการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงกับประเทศต่างๆ พร้อมทั้งสานความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน สังคมและวัฒนธรรม

สาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ที่ประชากรมีรายได้ปานกลางถึงระดับสูง (upper-middle income) มีพรมแดนติดกับหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย จีน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน และเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในเอเชียกลางของไทย โดยมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและคาซัคสถาน ปี 2559 – 2561 มีสัดส่วนระหว่างกันไม่มาก-ภาพรวมการค้าไทย – คาซัคสถาน ในปี 2561 มีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 92.67 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการขยายตัวลดลง ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 52.23 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 40.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร เฉลี่ย 101.3-ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังคาซัคสถาน ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตู้เย็นและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณี อุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่สินค้าสำคัญที่นำเข้าหลักจากคาซัคสถาน ได้แก่ โลหะ เหล็ก สินแร่อื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย นอกจากนี้ยังมีสินค้าศักยภาพของไทยที่ได้ส่งออกไปยังสาธารณรัฐคาซัคสถานแล้ว ได้แก่ กะทิกระป๋อง น้ำมะพร้าว น้ำนมข้าว โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสและควรส่งเสริมให้เปิดตลาด คือ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้อบแห้ง เช่น มะม่วง มังคุด มะละกอ ขนุน ทุเรียน เป็นต้น

ผลจากแผนการพัฒนาที่เน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปของคาซัคสถาน ทำให้เกิดการลงทุนในสาขาเกษตรอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร DITP เล็งเห็นโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าฮาลาลไปร่วมลงทุนในคาซัคสถาน ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังยุโรปตะวันออก จะใช้เส้นทางขนส่งที่ผ่านจีน ซึ่งต้องจ่ายภาษีระหว่างเมือง และใช้เวลาการขนส่งนานกว่า 1 เดือน และมีต้นทุนการขนส่งสูง แต่หากผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนในคาซัคสถานได้ จะสามารถใช้คาซัคสถาน เป็นฮับในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ได้ อีกทั้ง คาซัคสถานยังเป็นทำเลยุทธศาสตร์ สำคัญเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชียกลางอีกด้วย

ในอนาคตประเทศไทยและคาซัคสถานน่าจะมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนในสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ผ่านกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวิชาการเกษตรระหว่างกันในสินค้าศักยภาพที่เป็นความสนใจของทั้ง 2-ฝ่าย-ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับคาซัคสถาน ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายหาข้อสรุปได้ จะเป็นผลดีต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในมิติด้านการค้าระหว่างสองประเทศ อย่างแน่นอน-ทั้งนี้ ภาคการเกษตรไทยควรใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบ knowledge-based และ digital economy มาพัฒนาและสร้างความเข้มแข็ง ให้ได้มากที่สุดด้วย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

******************************************************

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ