กรม สบส. หารือ คปภ. และสมาชิก พัฒนาระบบประกันสุขภาพ “แม่อุ้มบุญ”

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และบริษัทสมาชิก พัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาลโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์แทนแก่แม่อุ้มบุญตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอด คาดแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2567

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง สัดส่วนของอายุของประชากรมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) อันส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กรม สบส. มีความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน การให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ รวมถึง การพิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะมีบุตรยาก เพื่อการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ ตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จำนวน 114 แห่ง มีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์ไปแล้ว จำนวน 745 ราย และมีอัตราความสำเร็จในการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากถึงร้อยละ 46 ซึ่งถือเป็นอัตราความสำเร็จที่ค่อนข้างสูง แต่การจะสร้างความเชื่อมั่นต่อให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทย

นอกจากอัตราความสำเร็จของบริการแล้ว ความปลอดภัยของผู้รับบริการก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับการพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และเพิ่มประชากรรองรับสภาวะสังคมผู้สูงอายุ คณะอนุกรรมควบคุม ตรวจสอบ หรือกำกับดูแลการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ จึงได้พิจารณาเห็นควรให้มีการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน โดยเบื้องต้นมีขอบเขตในการพิจารณาทำประกันในกรณีต่าง ๆ ดังนี้ 1) ครอบคลุมหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน 2) โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องจากการตั้งครรภ์ การคลอดและหลังคลอด ซึ่งกรม สบส.จะดำเนินการพัฒนาการทำประกันกรณีการตั้งครรภ์แทน โดยได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทสมาชิก สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทสมาชิก ร่วมพิจารณาเกณฑ์ร่างกรมธรรม์ โดยคาดว่าร่างกรมธรรม์จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2567