สทนช. ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ เร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก/พัฒนาระบบประปาภูเขา  

สทนช. ลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ บูรณาการหน่วยงานเดินหน้าสำรวจชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก พัฒนาระบบประปาภูเขา/โครงข่ายกระจายน้ำ เสริมศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ พร้อมวางแผนแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้สอดคล้องศักยภาพและภูมิสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืน

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ระหว่างวันที่ 14–15 ก.พ. 67 ณ จ.แม่ฮ่องสอน ในการนี้มี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายอุดมศักด์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัด เทศบาลเมือง องค์การบริหารส่วนตำบล กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และการประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น ร่วมประชุมหารือ เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและความต้องการด้านน้ำช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ พร้อมลงพื้นที่ติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำของระบบประปาภูเขาและแหล่งกักเก็บน้ำในชุมชน พร้อมร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เนื่องจากแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่เฉพาะ ที่มีพื้นที่ราบน้อย ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา ประชากรมีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร และใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นระบบประปาภูเขา ดังนั้น การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบจะต้องพิจารณาจัดทำโครงการเฉพาะเป็นรายพื้นที่ เช่น การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กหรือแหล่งน้ำใต้ดิน การขยายระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะส่งต่อเชื่อมโยงให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน ซึ่งต้องมีการศึกษาบริบทของพื้นที่เพื่อจัดทำแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับศักยภาพและภูมิสังคมด้วย จากการลงพื้นที่ ต.จองคำ ต.ปางหมู ต.ผาบ่อง อ.เมือง และ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในระดับปานกลางถึงระดับมาก โดยเฉพาะในห้วงเดือน มี.ค. เม.ย. และ พ.ค.ของปีนี้ เนื่องจากขาดแหล่งกักเก็บน้ำที่ไหลจากต้นน้ำ มีเพียงถังกักเก็บน้ำสำหรับทำประปาภูเขาซึ่งไม่เพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้ง ในระยะสั้นจึงได้แนะนำให้พื้นที่เร่งทำฝายชั่วคราวเพื่อกักเก็บน้ำไว้และสูบส่งต่อเข้าถังเก็บน้ำให้เพียงพอในฤดูแล้งนี้ ระยะยาวได้มอบกรมชลประทานพิจารณาจัดทำฝายถาวร และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหลายๆ จุด เพื่อบริหารจัดการน้ำในลักษณะอ่างพวงให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป และยังได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งพิจารณาช่อมแซมคันดินปากอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ให้มีสภาพสมบูรณ์ เนื่องจากปีนี้มีคาดการณ์จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญาทำให้ฝนตกหนัก หากอ่างเก็บน้ำพังอาจส่งผลกระทบพื้นที่ประชาชนได้ ส่วนปัญหาน้ำในสระรัชดาและสระนาไม้ม่วง ที่ปริมาณน้ำอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ การแก้ไขในระยะเร่งด่วนให้กรมทรัพยากรน้ำเร่งหาสระกักเก็บน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งกระจายน้ำด้วยระบบโซล่าเซลล์ และระยะกลางให้เตรียมขุดขยายสระเพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ รวมทั้งให้การประปาส่วนภูมิภาคดำเนินการตรวจสอบควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วย

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่เพื่อดูสภาพปัญหาลำน้ำแม่ฮ่องสอนตื้นเขิน พบสาเหตุจากตะกอนดินที่สะสมและมีฝายที่มีลักษณะกีดขวางการไหลของน้ำ ในระยะเร่งด่วน เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง มีแผนขุดลอกตะกอนดินตลอดลำน้ำเพื่อฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำและเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้มอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาความเหมาะสมทั้งระบบ ในการรื้อถอนฝายหรือปรับรูปแบบเป็นประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมการไหลของน้ำได้อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาลำน้ำแม่ฮ่องสอนให้แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ผสมผสานบนพื้นฐานศิลปวัฒนธรรมด้วย

ในส่วนของ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พบว่า น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีไม่เพียงพอทุกหมู่บ้าน โดยบางพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากระบบประปาภูเขา ไม่มีแหล่งน้ำอื่นสำรอง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลค่อนข้างสูง บางพื้นที่ติดพื้นที่ป่า/พื้นที่อุทยานไม่สามารถดำเนินขุดเจาะได้ อีกทั้ง ระบบกระจายน้ำไม่ครอบคลุมในพื้นที่ สาเหตุจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร และการคมนาคมไม่สะดวก โดยแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ในระยะสั้นได้กำชับให้กรมทรัพยากรน้ำเตรียมความพร้อมโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำและระบบส่งกระจายน้ำ และให้กรมพัฒนาที่ดิน เตรียมความพร้อมโครงการเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร เพื่อเสนอเข้าระบบ Thai Water Plan ให้ทันในเดือน เม.ย. นี้ และมอบหน่วยงานพื้นที่ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งดำเนินการซ่อมแซมระบบประปาภูเขาแม่นาจรเหนือเพื่อให้สามารถส่งกระจายน้ำและกักเก็บไว้ใช้เพียงพอฤดูแล้งนี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น เนื่องจากพื้นที่ อ.แม่แจ่ม เป็น 1 ในพื้นที่นำร่อง ตามโครงการ MOU ดิน น้ำ ป่า อยู่แล้วโดย สทนช.จะร่วมกับอีก 5 หน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ระยะ 5 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ โดยปรับเปลี่ยนเป็นปลูกพืชเศรษฐกิจไม้ยืนต้นทดแทนเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืน

“จากสภาพพื้นที่และข้อจำกัดด้านกฎระเบียบของต่างหน่วยงาน ทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งน้ำของทั้ง 2 จังหวัด ติดขัด ไม่สอดคล้องกัน จึงต้องมีการบูรณาการหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่ง สทนช. มีความร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบ MOU การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ดิน น้ำ ป่า) เพื่อบูรณาการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในการส่งเสริมประสิทธิภาพ รวมถึงร่วมขับเคลื่อนแผนบูรณาการเชิงพื้นที่ระดับลุ่มน้ำ โดย สทนช. เตรียมประสานทั้ง 5 หน่วยงาน อีก 2 หน่วยงาน คือ กรมชลประทานและกรมเจ้าท่า ในการจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) และสอดคล้องกับแผนแม่บทลุ่มน้ำ โดยจะใช้ “แม่ฮ่องสอนโมเดล” เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ให้กับพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย