อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลังป้องกันการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว และเตรียมความพร้อมรองรับการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นายพีรพันธ์  คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนหัวดำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 สำนักอธิบดี กรมวิชาการเกษตร และผ่านช่องทางออนไลน์ (Zoom meeting) โดยหารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ พร้อมรับทราบข้อมูลการระบาดของหนอนหัวดำจากสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้การจัดการควบคุม ป้องกันในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรจะร่วมกันผลิตแมลงตัวเบียน (parasitoids) กลุ่มแตนเบียน ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกาะกินแมลงชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้แมลงที่ถูกเกาะกินอ่อนแอและตายไปในที่สุด เช่น แตนเบียนบราคอนเพื่อป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และกำหนดระยะเวลารวมถึงขอบเขตพื้นที่ในการปล่อยแตนเบียนบราคอน ณ อำเภอบางสะพาน และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพบการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวหนาแน่นในระดับที่มีใบเขียวสมบูรณ์น้อยกว่า 6 ทางใบ โดยเริ่มปล่อยแตนเบียนโกนิโอซัสของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นแตนเบียนที่กำจัดเฉพาะหนอนหัวดำ ตามด้วยการปล่อยแตนเบียนบราคอนของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้แตนเบียนบราคอนกำจัดศัตรูมะพร้าวได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่ทำลายกันเอง ซึ่งขณะนี้ได้เร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำแตนเบียนบราคอนที่ผลิตไว้แล้ว ทยอยปล่อยสู่สวนมะพร้าวของเกษตรกรในสัปดาห์นี้ และปล่อยต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และประเมินประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดจัดทีมปฏิบัติการร่วม เพื่อติดตาม สำรวจ เฝ้าระวังเชิงรุกในทุกพื้นที่การปลูกมะพร้าว และสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการดูแล รักษา ควบคุม ป้องกัน ที่ถูกต้อง ถูกเวลา และปลอดภัยต่อระบบอาหาร อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เน้นย้ำให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย เร่งผลิตแมลงตัวเบียน เพื่อเตรียมความพร้อมของทรัพยากรสรรพกำลังรองรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นต่อจากนี้ไป

จากนั้น อธิบดีทั้งสองหน่วยงาน ยังได้หารือเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกที่จะออกสู่ตลาด โดยการให้บริการและอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การขอรับรองหรือต่ออายุมาตรฐาน GAP และการตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ภายใต้รูปแบบการปฏิบัติการจันทบุรีโมเดล ทั้งสามจังหวัดภาคตะวันออกเป็นโอกาสแรก และภาคใต้เป็นลำดับถัดไป