กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นำสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ศึกษาดูงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ช่วงเวลาทองของการพัฒนาสมอง หนุนแม่ตั้งครรภ์มีโภชนาการดี เลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ พัฒนาทักษะผ่านการ “กิน กอด เล่น เล่านอนเฝ้าดูฟัน” และแนะนำให้พ่อแม่รับข้อมูลผ่าน “9 ย่างเพื่อสร้างลูก” ที่ส่งข้อมูลผ่าน Facebook Messenger เพื่อให้ได้รับความรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของลูกอย่างต่อเนื่อง สร้างเด็กไทยคุณภาพ
วันที่ 8 สิงหาคม 2562 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ศึกษาดูงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ณ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยเปิดเผยว่า เด็กคืออนาคตที่สำคัญของประเทศที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แต่จากข้อมูลการสำรวจพัฒนาการเด็กของกรมอนามัยในปี 2560 พบว่าเด็กแรกเกิดถึง 2 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 23.2 ส่วนเด็กอายุ 3 – 5 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 42 หรือ 1 ใน 3 จำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าให้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญคือการเจริญเติบโต ของเด็ก พบว่าเด็กสูงดี สมส่วน เพียงร้อยละ 50 โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ เด็กเตี้ย รองลงมาคือ เด็กอ้วน และเด็กผอม ส่งผลให้เด็กเจ็บป่วยและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ระดับไอคิวต่ำ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเมื่อเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต จึงเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทุกช่วงเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ปี ถือเป็นช่วงวัยทองของเด็กที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมอง เพราะโครงสร้างสมองจะมีการพัฒนาสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่าย ใยประสาทนับล้านโครงข่าย และการที่เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกัน ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของสตรีระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดไปจนกระทั่งเด็กอายุ 2 ปี จะเป็นตัวกำหนดสุขภาพและโรคในอนาคตได้
“ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต โดยช่วง 270 วันอยู่ในท้องแม่ แม่ควรกินอาหาร ที่ดีมีประโยชน์ เช่น ปลา ตับ ไข่ ผัก ผลไม้และนมสดรสจืด เสริมด้วยวิตามินบำรุงที่มีไอโอดีน เหล็ก และโฟลิก ช่วง 180 วัน (แรกเกิดถึง 6 เดือน) เป็นช่วงที่ลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเต็ม เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกและบำรุงหญิงที่ให้นมบุตรด้วยอาหารที่มีประโยชน์ ปริมาณเพียงพอและหลากหลาย จากนั้น 550 วัน (หลัง 6 เดือนถึง 2 ปี) ให้อาหารตามวัยที่เหมาะสมควบคู่กับนมแม่ให้นานที่สุด เสริมด้วยวิตามินที่มีธาตุเหล็กเพื่อเป็นการเตรียมสมองร่วมกับการพัฒนาทักษะของเด็ก โดยกระบวนการกระตุ้นผ่านกิจวัตรประจำวันในรูปแบบกิน กอด เล่น เล่านอน เฝ้าดูฟัน ที่เหมาะสมจากผู้ปกครองและชุมชน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาพกาย ใจ และสติปัญญาที่สมบูรณ์ มีความสุขและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน นางสาวธนภร พีระเพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า นอกจากโภชนาการที่เหมาะสมแล้ว การเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็ก ก็จะช่วยกระตุ้นสมองของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ช่วยพัฒนาการรับรู้และทักษะต่าง ๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการอ่านนิทาน การร้องเพลง การกอด และการให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องช่วยเสริมสร้างให้ลูกมีความมั่นคงทางจิตใจ ปกป้องจากการเกิดความเครียดระดับรุนแรงที่บั่นทอนการทำงานของสมอง ซึ่งการใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง ใช้วาจาไม่ดีกับเด็ก หรือแม้แต่การทอดทิ้ง มีผลเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พ่อแม่และครอบครัวเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาได้อย่างมีคุณภาพคือ ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและการพัฒนาเด็ก องค์การยูนิเซฟและกรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกันพัฒนา 9 ย่างเพื่อสร้างลูก (Early Moments Matter on Mobile) ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกผ่าน Facebook Messenger สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนลูกอายุ 6 ปี โดยจะส่งข้อมูลที่เหมาะสมกับอายุของเด็กหรืออายุครรภ์ของคุณแม่ มีทั้งเรื่องโภชนาการ พัฒนาการ การเลี้ยงดูลูกอย่างเข้าใจ เพื่อให้ลูกเติบโตเต็มศักยภาพ จึงอยากเชิญชวนพ่อแม่ทุกคนสมัครรับข้อมูลโดยเข้าไปที่เพจ 9 ย่างเพื่อสร้างลูก www.facebook.com/9YangTHแล้วพิมพ์คำว่า Start มาในกล่องข้อความ (Inbox) จากนั้นก็ตอบคำถามเพียงไม่กี่ข้อแล้วก็รออ่านข้อมูลดีๆ ได้ทุกวัน
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 8 สิงหาคม 2562