นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและนโยบาย วธ. ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เล่นดนตรี คนละ 1 ชิ้น สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เด็กและเยาวชนรักในศิลปวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) จึงได้จัดโครงการส่งเสริมเด็กไทยเล่นดนตรีไทย คนละ 1 ชิ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเล่นดนตรีไทยได้อย่างน้อยคนละ 1 ชิ้นจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานในการส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคน เล่นดนตรีเป็น 1 ชนิด ถือเป็นการเยียวยาจิตใจ มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ สังคม ร่างกาย และจิตใจ ของเด็กเยาวชนสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีสมาธิ สามารถเรียนรู้วิชาการอื่น ๆ ได้รวดเร็วขึ้น ประกอบกับเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของไทยให้เด็กเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการส่งเสริมเด็กไทยเล่นดนตรีไทยคนละ 1 ชิ้น ได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นอย่างมาก ใช้เวลาอบรม 2 วัน มีการสอน ประกอบด้วย พื้นฐานดนตรีไทยวงปี่พาทย์ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ พื้นฐานดนตรีไทยวงเครื่องสาย ซอด้วง ซออู้จะเข้ พื้นฐานดนตรีพื้นบ้านอีสาน พิณ แคน โหวด โปงลาง กลองหาง และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นการจัดฝึกอบรมปฏิบัติดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านให้แก่เด็กและเยาวชน ดังต่อไปนี้ 1. กลุ่มปี่พาทย์ (อาทิ ขลุ่ย อบรมกลุ่มเป้าหมายใหม่) 2. กลุ่มเครื่องสายไทย 3. กลุ่มดนตรีพื้นบ้าน 4. กลุ่มดนตรีสากล มีนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 5,000 คน จาก 100 โรงเรียนเครือข่ายสนใจเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น 12 ชั่วโมง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 มีทีมวิทยากรจากวิทยาลัยนาฎศิลปในสังกัด 12 แห่ง คณะศิลปศึกษา คณะศิลปนาฏดุริยางค์ ครูผู้เชี่ยวชาญอบรมให้ความรู้
ทั้งนี้ ภายหลังการอบรม ทาง สบศ. จะมีการจัดแสดงผลงานเด็กและเยาวชนในระดับกระทรวง ทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ภายนอก ถือเป็นขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เล่นดนตรี คนละ 1 ชิ้น สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม