วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามผลความคืบหน้าของการดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง ครั้งที่ 15 ณ โรงแรม อนันดา ลันตา รีสอร์ท ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง ทช. กับ สสส. โดยทาง สสส. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ เพื่อกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งการพัฒนาระบบและเครื่องมือในการตัดสินใจเบื้องต้นบนฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายหาดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมตลอดโครงการมากกว่า 880 คน ประกอบด้วย ชุมชนชายฝั่ง องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ได้จัดกิจกรรมทั้งสิ้น จำนวน 23 ครั้ง ใน 18 จังหวัด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมจัดทำฐานข้อมูลของชายหาดประเทศไทย ทำให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่ง เรียนรู้ต่อการปรับตัวต่อภัยคุกคามได้อย่างถูกวิธี และสามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางที่ถูกต้อง อีกทั้งลงพื้นที่ใช้อุปกรณ์การตรวจวัดรูปตัดชายหาดด้วยระบบเทคโนโลยี Beach Monitoring :BMON ได้ข้อมูลชายหาดที่เป็นปัจจุบัน ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดกิจกรรมการรวมกลุ่มเรียนรู้บนพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เสริมสร้างความสามัคคี เกิดสุขภาวะในชุมชน สำหรับข้อมูลตรวจวัดชายหาดที่ได้จากประชาชน จะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลชายหาดของประเทศไทยและกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 16 ในเรื่องส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนชายฝั่งและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) ในเรื่องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น
อธิบดี ทช. กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของชายฝั่งทะเลประเทศไทยตลอดระยะทาง 3,151 กิโลเมตร ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 1 ใน 4 ที่การกัดเซาะชายฝั่งส่งผลกระทบทั้งด้านระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ บางพื้นที่ประสบความสำเร็จ แต่บางพื้นที่เกิดผลกระทบตามมา และเกิดการสูญเสียชายหาดเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งควรเลือกวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลชายหาดที่มีความถูกต้อง มีข้อมูลที่เพียงพอ และต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเกี่ยวกับกระบวนการทางธรรมชาติของชายหาด สมดุลชายฝั่งทะเล รวมถึงวิธีป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสมและถูกต้อง ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่ดีที่สุด เป็นผู้ใช้ประโยชน์พื้นที่และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ประชาชนจึงต้องได้รับความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง และได้รับการฝึกสำรวจ ติดตามข้อมูลชายหาดด้วยตนเอง เพื่อนำความรู้และข้อมูลที่ได้มาใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่ถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงร่วมกับ สสส. เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง ทั้ง 24 จังหวัดติดทะเล และเครือข่าย อสทล. ทั่วประเทศ พัฒนากลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล ช่วยกันสอดส่องดูแลระบบนิเวศทางทะเล ตั้งแต่ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน และท้องทะเล รวมถึงการทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น การทำประมงผิดกฎหมาย บุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน และการจัดการขยะทะเลอีกด้วย “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”