กรมชลประทาน โดย ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (8 กุมภาพันธ์ 2567) ปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 30,074 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ รวมกัน โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน 8,567 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,311 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 50 ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง
สำหรับภาพรวมการเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง 2566/67 ทั้งประเทศทำนาปรังไปแล้วกว่า 8.38 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.63 ล้านไร่ จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับการจัดสรรน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จจะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศรวมทั้งสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเป็นหลัก
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าได้บริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้เพาะปลูกข้าวนาปรังรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ไม่เพาะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีอย่างจำกัด เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดน้ำ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในการอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศอีกด้วย