กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำเกษตรกรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรแบบรายวัน จากข้อมูลภูมิสารสนเทศ เว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร 

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำแผนที่ติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชใน 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำท่าจีน และลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งในปี 2567 คาดการณ์ว่าพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ 9 จังหวัดอาจได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุก ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร

โดยเป็น พื้นที่เพาะปลูกไม้ดอก 12,369 ไร่ เกษตรกร จำนวน 2,139 ราย พื้นที่เพาะปลูกพืชผัก 20,437 ไร่ เกษตรกร จำนวน 7,108 ราย พื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,083,531 ไร่เกษตรกร จำนวน 140,610 ราย และ พื้นที่เพาะปลูกไม้ผล 105,402 ไร่ เกษตรกร จำนวน 40,855 ราย เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวที่ทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ควรติดตามข้อมูลข่าวสารทางราชการเป็นระยะเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เฝ้าระวังเตรียมการป้องกัน และลดผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและมีฤดูแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าความเค็มในแหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งที่มักจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำและน้ำทะเลหนุนได้

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายภาคส่วนในการจัดทำแผนที่ติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ประกอบด้วย กรมชลประทานและกรมควบคุมมลพิษ และได้จัดจำแนกคุณภาพความเค็มของน้ำ 4 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 (สัญลักษณ์ : สีเขียว): คือ มีค่าความเค็มของน้ำในระดับ 0.00 – 0.75 กรัม/ลิตร คุณภาพน้ำปกติ

ระดับที่  2 (สัญลักษณ์ : สีเหลือง): คือ มีค่าความเค็มของน้ำในระดับ 0.76 – 0.99 กรัม/ลิตร ควรเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกไม้ดอกและพืชผักในพื้นที่เสี่ยง

ระดับที่ 3 (สัญลักษณ์ : สีส้ม): คือ มีค่าความเค็มของน้ำในระดับ 1.00 – 1.99 กรัม/ลิตร ควรเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกไม้ดอก พืชผัก และข้าวในพื้นที่เสี่ยง และ

ระดับที่ 4 (สัญลักษณ์ : สีแดง): คือ มีค่าความเค็มของน้ำในระดับมากกว่า 2 กรัม/ลิตรขึ้นไป ควรเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกไม้ดอก พืชผัก ข้าว และไม้ผลในพื้นที่เสี่ยง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำเกษตรกรให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรแบบรายวันได้ด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร https://www.doae.go.th/ข้อมูลสถานการณ์น้ำเค็ม/ เพื่อเตรียมการ ป้องกัน บรรเทาผลกระทบ ลดความเสียหายจากน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรของท่าน