Key Highlights
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. ติดลบที่ -11%YoY หดตัว 4 เดือนติดต่อกัน จากการลดลงของราคาในหมวดพลังงานและอาหารสด โดยราคาพลังงานหดตัวจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่ราคาอาหารสดลดลงตามราคาผักสดและเนื้อสุกร สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52%YoY
- แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่อง แต่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมิได้เผชิญกับภาวะเงินฝืด เนื่องจาก 1) มาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถือเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อติดลบ 2) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 ของตะกร้าเงินเฟ้อ ยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าสินค้าหลายหมวดมีราคาอยู่ในระดับสูง และ 3) หากเทียบรายเดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.02%MoM กลับมาเป็นบวกได้ในรอบ 5 เดือน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะวิกฤตทะเลแดงที่อาจกดดันให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ด้วยปัจจัยข้างต้น คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปีไว้ ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ. 2567 นี้
ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. อยู่ที่ -1.11% แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี จากหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. ติดลบ -1.11%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ -0.8% [1]จากราคาหมวดพลังงานที่หดตัว -5.5%YoY ติดลบมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ -5.1%YoY ตามนโยบายการลดภาระค่าของชีพด้านพลังงานทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะการตรึงราคาน้้ามันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟบางส่วน ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดหดตัว -3.1%YoY ปรับตัวลง 5 เดือนติดต่อกัน ทั้งยังปรับลงมากกว่าเดือนก่อนที่ติดลบ -2.3%YoY ตามราคาผักสดและเนื้อสุกรที่ลดลงหลังจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52%YoY ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยราคาสินค้าที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ อาหารบริโภคในบ้าน/นอกบ้าน ค่าโดยสารฯ การสื่อสาร การบันเทิง ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องนุ่มห่มและรองเท้า เคหสถาน เป็นต้น
Implication:
- Krungthai COMPASS ประเมินว่าการติดลบต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสู่ระดับ -1.11%YoY ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2564 ดังกล่าว ยังไม่ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะเงินฝืด การติดลบต่อเนื่องของตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป มีสาเหตุหลักมาจากมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพด้านพลังงานทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าไว้ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วยแก่ครัวเรือนที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ประกอบกับราคาอาหารสดโดยเฉพาะผักและเนื้อสุกรซึ่งหดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาเพิ่มขึ้น ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (สัดส่วน 67% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) ยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่ามีสินค้าหลายหมวดที่ราคาคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบเดือนต่อเดือนแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 02%MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้า อีกทั้งกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มองไปข้างหน้า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตทะเลแดงที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะอุปทานชะงักงันที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตเป็นวงกว้าง ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปีไว้ ในการประชุมวันที่ 7 ก.พ. 2567 นี้
[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as of January 2024)