กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับแนวทาง รมว.กระทรวงแรงงาน จัดระบบบริการประชาชน สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย กับการใช้บริการช่างประชารัฐผ่านเว็บไซต์
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและเน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน ที่ควรต้องจัดระบบการให้บริการต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดให้มีระบบการค้นหาช่างประชารัฐในชุมชน เพื่อให้บริการด้านช่างฝีมือแก่ประชาชน ที่ต้องการซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่พักอาศัย ที่เสียหายชำรุด โดยมีทั้งช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างประปาและสุขภัณฑ์ ช่างปูกระเบื้อง ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ช่างทาสีอาคาร ช่างซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น โดยการสืบค้นประวัติ และพิจารณาเรียกรับบริการจากฐานข้อมูลที่จัดเก็บไว้
ปัจจุบันมีช่างประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการกว่า 14,000 คน ใน 81,962 ชุมชน สำหรับประชาชน ที่ต้องการเรียกใช้บริการช่างฝีมือประชารัฐ สามารถดำเนินการผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th เลือกเมนู “ร้านช่างประชารัฐ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยช่างดังกล่าว เป็นช่างฝีมือที่ผ่านการอบรมและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงาน เข้าร่วมโครงการช่างประชารัฐ ด้วยการลงทะเบียน กรอกรายละเอียดส่วนตัว ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ สำหรับเรียกใช้บริการ ลงในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ต้องการใช้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีบริการพัฒนาทักษะออนไลน์ เป็นอีกบริการหนึ่งที่ให้บริการ สำหรับกำลังแรงงานที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปฝึกอบรม สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีเมนูฝึกอบรม จำนวน 15 สาขาอาชีพ อาทิ การฝึกด้านภาษา มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นและภาษาเกาหลี นอกจากนี้ยังมีสาขาด้านอาหาร สาขาอาชีพอิสระ สำหรับสาขาด้านช่าง เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างยนต์ เป็นการศึกษาเบื้องต้น แล้วไปฝึกปฏิบัติต่อกับหน่วยงานของ กพร. ในสถานศึกษาหรือในสถานประกอบกิจการ ขึ้นอยู่กับ ผู้ฝึกว่าเป็นแรงงานทั่วไป นักศึกษาหรือทำงานในสถานประกอบกิจการ โดยเข้าเว็บไซต์ www.dsd.go.th เลือกเมนู ฝึกทักษะออนไลน์ (online Training) ดูง่าย ปฏิบัติตามได้สะดวก นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
“การพัฒนาทักษะฝีมือและศักยภาพแรงงาน ให้เป็นแรงงานคุณภาพ (super worker) เพื่อตอบสนองความต้องการด้านแรงงาน ควบคู่กับการพัฒนาระบบการให้บริการด้านแรงงานวิชาชีพช่างสาขาต่างๆ แก้ปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ และสอดคล้องกับแนวคิด workforce transformation ที่มุ่งเน้นเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงาน เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ในศตวรรษที่ 21” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย