นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลก
โดย กรม ทช. ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และชุมชน กำหนดเป้าหมายการดำเนินการในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ระยะเวลา 10 ปี พ.ศ. 2565 – 2574 เนื้อที่รวม 300,000 ไร่ เพราะป่าชายเลนถือเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญยิ่ง สอดคล้องกับแนวทางการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal and Marine Biodiversity: CCMB) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทวิภาคีไทยและเยอรมนี โดยมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2570 และมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ทั้งในภาพรวม และมุ่งเน้นการดำเนินงานในสาขาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยโครงการฯ ให้ความสำคัญกับแนวทางทำงานใน 4 มิติ คือ เสริมศักยภาพ สร้างความร่วมมือ ขับเคลื่อนบูรณาการ และประสานเชื่อมโยง
ทั้งนี้ ความร่วมมือระดับยุทธศาสตร์ระหว่างรัฐบาลเยอรมนีและรัฐบาลไทยที่มีความมั่นคงและก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ถือว่ามีส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยในฐานะพันธมิตรการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความก้าวหน้าในหลายมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการฯ อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการบูรณาการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงจัดประชุมโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal and Marine Biodiversity: CCMB) ขึ้น ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ขีดจำกัดของโลก” โดยมี คุณฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนคณะผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอินฟินิตี้ บอลลูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญผ่านการให้งบประมาณสนับสนุนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญของไทยจากหลากหลายสาขาได้เข้ามาสนับสนุนทางวิชาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการทำงานต่อไป สำหรับภาคีเครือข่ายที่มาร่วมการประชุมในวันนี้ถือเป็นพันธมิตรสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถยกระดับศักยภาพและความพร้อมในมิติต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งส่งเสริมการปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ รวมถึงมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องมีการทำงานที่สอดประสานกันทั้งในระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการควบคู่กันไป นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อสำคัญ ได้แก่ นโยบายไทยในวาระโลก : การมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ กิจกรรม TED Talk หัวข้อ มุมมองผู้เชี่ยวชาญในการมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ และปิดท้ายด้วยการเสวนาในหัวข้อ การเดินทางเพื่อขับเคลื่อนสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกต่อธรรมชาติ นายชิดชนก รองอธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้าย