กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าว “15 ปี บนเส้นทางการต่อสู้ของคนน้ำชีย้ำรัฐต้องแก้ปัญหาเขื่อนน้ำชี แนะสนับสนุนรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กระดับครัวเรือน” นั้น
กรมชลประทาน ขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาเขื่อนน้ำชี โดยได้มีการทำหนังสือขอความเห็นในการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายร้อยเอ็ด โครงการฝายยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบและรับรองรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ
ในส่วนที่มีการร้องขอให้ยุติการดำเนินการศึกษาเรื่องเขื่อน ประตูระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำกั้นแม่น้ำชีทั้งแม่น้ำชี นั้น กรมชลประทานมีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างโปร่งใส ด้วยการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด โดยพื้นที่ศึกษาเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอาคารชลประทานในแม่น้ำชี และโครงการพัฒนาอื่นๆที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงกัน เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ขาดแหล่งเก็บกักน้ำ พร้อมทั้งเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าน้อย อาทิ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ และพื้นที่ต้นน้ำชี สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ถึง 31.71 ล้านไร่ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (บริเวณหัวงาน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างรายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 มีกำหนดเข้าวาระการพิจารณาจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ในเดือนมีนาคม 2567 นี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ) ซึ่งเป็นระบบกระจายน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.73 ล้าน ไร่
อนึ่ง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดร้อยเอ็ด มีแผนงานที่จะก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กในพื้นที่ทุกปี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และป้องกันอุทกภัย ตลอดจนเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยทุกโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจะมีการถ่ายโอนภารกิจโครงการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการน้ำและวางแผนการใช้น้ำร่วมกับประชาชนต่อไป ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตลอดจนการบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่ กรมชลประทานมีความมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ช่วยเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกภาคส่วน