บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2562 คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 464 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 76 ล้านบาท หรือ ประมาณร้อยละ 20
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 2/2562 บริษัทฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลจากสภาพอากาศที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความเข้มแสงในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการรับรู้รายได้เต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) รวม 2 โครงการ ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2561 และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม “ลมลิกอร์” เมื่อกลางเดือนเมษายน 2562 คิดเป็นรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ 848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2562 ประมาณร้อยละ 5 อ่อนตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 31 ล้านบาท จากสกุลเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินเยน เป็นผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 464 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 76 ล้านบาท หรือสูงถึงประมาณร้อยละ 20
ขณะที่ในช่วง 6 เดือนของปี 2562 กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 จาก 770 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมจากการดำเนินงานปกติ (ก่อนหักค่าตัดจำหน่าย) อยู่ที่ 166 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 หรือ 50 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2/2561 มีสาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศฟิลิปปินส์ (ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ดอกเบี้ยกลับมาสู่ระดับต่ำลงเรียบร้อยแล้ว) เและการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนงานประจำปีของบางหน่วยผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนิเซีย
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 31,490 ล้านบาท ทรงตัวจากสิ้นปี 2561 ส่วนหนี้สินรวมอยู่ที่ 16,110 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2
“ผลงานไตรมาสที่สองของปีนี้ เป็นไปตามแผนงานของบริษัทฯ โดยมีการรับรู้รายได้จากโครงการที่ลมลิกอร์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เรายังคงเดินหน้าขยายธุรกิจโดยตั้งเป้า EBITDA เติบโตร้อยละ 15 – 20 ด้วยเงินลงทุน 50,000 ล้านบาทสำหรับ 5 ปี (2563 – 2567) ใช้กลยุทธ์ 4Es ในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ Expanding มุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ด้วยการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไปยังประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาโครงการในลักษณะ greenfield development ให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
Extending ขยายธุรกิจเพื่อรองรับทิศทางของธุรกิจพลังงานในอนาคต อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงธุรกิจต่อยอดภายในกลุ่มบริษัทบางจาก เช่นระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) จากการลงทุนเหมืองลิเทียมของบางจากEnhancing การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ องค์ความรู้ในเชิงลึก พัฒนาศักยภาพของพนักงานและกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ Evaluating บริหารสินทรัพย์ด้วยการติดตามการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ และปรับเปลี่ยนเมื่อได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า
ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทฯ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำหรับโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ โครงการทาวน์สุขุมวิท 77 (T77) และโครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Smart City) เพื่อให้ได้รับการยกเว้นกฏระเบียบสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งจะเป็นการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐครั้งแรกในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อรองรับธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานในอนาคต เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Democratization of Energy ของบริษัทฯ เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานที่เราได้รับทราบกันในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา” นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย
—————————————————-